เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่เอกสารของเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเงินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FinCEN) ซึ่งเป็นข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทางการเงินทั่วโลก มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาทของ
ICIJ รายงานว่า ไฟล์ข้อมูลของ FinCEN รั่วไหลสู่บุคคลภายนอก หลังจากที่มีการล้างระบบบันทึกข้อมูลการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงเอกสารการทำธุรกรรมทางการเงินกว่า 2,500 ชุดที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2542- 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ธนาคารประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ
หลังจากผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่เป็นเครือข่ายของ ICIJ ตรวจสอบข้อมูลของ FinCEN พบว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2542- 2560 มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องหรือต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการทุจริตโดยสถาบันการเงินการธนาคารหลายประเทศ คิดเป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท
ชุดข้อมูลเอกสารดังกล่าวชี้ว่า ธนาคารระดับโลกใหญ่ๆ หลายธนาคารต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่มีการทุจริตทางการเงิน โดยพบว่ามีการให้บริการทางการเงินให้กับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจากทั่วโลก แม้ว่าในบางรายจะถูกรัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรก็ตาม
หนึ่งในนั้นมีชื่อของ ‘พอล แมเนฟอร์ต’ นักวางกลยุทธทางการเมือง ผู้ทำงานในแคมเปญการเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงและหลีกเลี่ยงภาษี หลังจากทางธนาคาร JP Morgan Chase พบพิรุธการโอนเงินของแมเนฟอร์ดจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังพบว่าเมเนฟอร์ดมีการโอนเงินผ่าน JP Morgan Chase กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทที่เชื่อมโยงกับไซมอน มอกิเลอวิช หัวหน้ากลุ่มอาชญากรรัสเซียที่เป็นบุคคลที่เอฟบีไอต้องการตัวมากที่สุด 10 ลำดับแรก
นอกจากนี้ยังพบว่าธนาคารระดับโลก HSBC ได้อนุญาตให้กลุ่มอาชญากรทางการเงินโอนเงินหลายล้านดอลลาร์จากคดีฉ้อโกงเงิน Ponzi scheme ซึ่งเป็นการหลอกลวงผู้คนที่ร่วมวงในเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติผ่านบัญชีธนาคารของ HSBC ในอังกฤษ
ขณะที่ธนาคาร Deutsche Bank ก็มีการเคลื่อนย้าย 'เงินสกปรก' จากการฟอกเงินขององค์กรอาชญากรรม กลุ่มก่อการร้ายและนักค้ายาเสพติด
ด้านธนาคาร Standard Chartered ก็มีการเคลื่อนไหวของเงินสดจากธนาคารอาหรับมานานมากกว่าทศวรรษ และพบเบาะแสว่าบัญชีของลูกค้าธนาคารในจอร์แดนนั้นถูกใช้เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการก่อการร้าย
FinCEN ชี้ 'เกาหลีเหนือ' ฟอกเงินผ่านธนาคารในสหรัฐฯ
NBC สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า เอกสารหลุดของ FinCEN ชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลเกาหลีเหนือใช้บริษัทเปลือกนอก (shell company) ที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง เป็นฉากบังหน้าดำเนินการฟอกเงินมานานหลายปี และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทจีน ดำเนินการโยกย้ายเงินผ่านธนาคารที่มีชื่อเสียงในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ
ทั้งนี้มีการพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือที่ถูกคว่ำบาตรการทำธุรกรรมทางการเงินทั่วโลกนั้นมีการเคลื่อนย้ายเงินกว่า 174.8 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ. 5,244 ล้านบาท โดยผ่านบริษัทในจีนและมีการทำธุรกรรมในธนาคารสหรัฐฯ
'อีริก โลร์เบอร์' อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ผู้ทำงานเรื่องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมายอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และกล่าวว่า เกาหลีเหนือได้พยายามจะเข้าถึงระบบการเงินของสหรัฐฯ มาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วโดยผ่านกระบวนการต่างๆที่ค่อนข้างซับซ้อนเพื่อให้ยากต่อการติดตาม
ธนาคารในไทยมีชื่อปรากฎใน FinCEN
เอกสารของ FinCEN ชี้ว่า ธนาคารในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายการเงินทั่วโลกที่ส่งรายงานการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยให้กับทาง FinCEN
โดยเอกสารที่เปิดเผยโดย ICIJ พบว่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารไทยในช่วงปี 2542 - 2560 มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัย 92 ครั้ง ทั้งจากธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิม) และธนาคารกรุงไทย และในเอกสารยังระบุว่า มีการโอนเงินจากธนาคารเหล่านี้ไปยังธนาคารที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ 4 แห่ง มูลค่าเงินรวมกันถึง 31,750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 95.25 ล้านล้านบาท)
ในรอบหลายปีมานี้ ICIJ เป็นต้นทางการขุดคุ้ยเอกสารทางเงินระดับโลกจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อตีแผ่เครือข่ายอาชญากรรมทางการเงินข้ามชาติที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศแสวงหาประโยชน์จากการทุจริตและการฟอกเงินผ่านระบบการเงินการธนาคาร ทำให้เงินจากธุรกิจผิดกฎหมายกลายเป็นเงินถูกกฎหมาย
เมื่อปี 2560 ICIJ เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของนักการเมือง คนดัง และนักธุรกิจระดับโลกในเอกสารชุด 'พาราไดช์ เปเปอร์' ซึ่งหลุดจากบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 'แอปเปิลบี' ที่รับผิดชอบดูแลบัญชีทรัพย์สินและทรัสต์ของบุคคลสำคัญทั่วโลกที่ินิยมจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เบอร์มิวดา หมู่เกาะเคย์แมน มอริเชียส ฯลฯ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น 'สวรรค์ของการหลีกเลี่ยงภาษี'
ขณะที่ในปี 2559 เอกสารทางการเงินชุด 'ปานามา เปเปอร์' หรือ เอกสารลับปานามา ซึ่งเปิดโปงเครือข่ายการหลีกเลี่ยงภาษีชุดใหญ่ที่สุดของโลก หลุดจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย 'มอสแซก ฟอนเซกา' เต็มไปด้วยรายละเอียดการหลีกเลี่ยงภาษีของกลุ่มคนรวย ทั้งยังพบคนไทยมีชื่อปรากฏในเอกสารลับปานามา 21 คน และมีอีก 963 บริษัทที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายของมอสแซก ฟอนเซกา
อย่างไรก็ตาม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เผยผลสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีบุคคลในประเทศไทย 16 รายมีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสารลับปานามาในเวลาหลังจากนั้น 1 ปี โดยระบุว่า ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือผิดกฎหมายไทย
ส่วนการเปิดเผยเอกสารของ ICIJ รอบใหม่นี้ สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับ FinCEN โดยต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา FinCEN ออกมาประณามการเปิดเผยข้อมูลที่รั่วไหลออกมา โดยชี้ว่า การเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางการเงินที่น่าสงสัย เข้าข่ายอาชญากรรม และยังเป็นการคุกคามความปลอดภัยและความมั่นคงของสถาบันและบุคคลที่ชื่ออยู่ในรายงานดังกล่าวด้วย
ที่มา BBC / The Guardian / NBC