ไม่พบผลการค้นหา
เปิดปฏิทินระยะเวลาพิจารณา 2 คดีร้อน 'คดีล้มล้างการปกครอง - คดีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท' ทั้ง 2 คดีล้วนมีผลสะเทือนถึงอนาคตของ 'พรรคอนาคตใหม่' เมื่อ 11 กรรมการบริหารพรรคมีสถานะ ส.ส. ต้องลุ้นว่าชะตากรรมของพวกเขาจะได้ไปต่อหรือไม่ได้ไปต่อในทางการเมือง เช่นเดียวกับสถานะของพรรคอนาคตใหม่จะยังคงอยู่หรือถูกยุบพรรคหลังก่อตั้งมาได้ 1 ปีกว่า

จุดเริ่มต้นของคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ที่ 'พรรคอนาคตใหม่' กำลังเผชิญมรสุมครั้งสำคัญซึ่งมีผลสะเทือนถึงขั้นยุบพรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองจากการพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส. ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถึง 11 คน หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมากส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

ปฐมบทคดีนี้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ขอไล่เรียงตามปฏิทินระยะเวลาการพิจารณาตั้งแต่ต้นจุดถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562

15 พ.ค. 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 กล่าวยอมรับว่า ได้ให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ต่อมา น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวว่า พรรคได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายธนาธรจริงจำนวน 250 ล้านบาท โดยมีการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างชัดเจน ปรากฎหลักฐานชัดเจนเมื่อนายธนาธร ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแก่งชาติ(ป.ป.ช) กรณีเข้ารับตำแหน่งส.ส.ว่า ได้ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 ทำเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 จำนวน 161.2 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยะ 7.5 ต่อปี โดยในสัญญาได้กำหนดเงื่อนไขให้พรรคต้องชำระหนี้คืนให้กับนายธนาธร พร้อมดอกเบี้ยภายใน 3 ปี แบ่งเป็น ปีที่ 1 ชำระเงินต้น 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระเงินต้น 40 ล้านบาท และปีที่ 3 ชำระเงินต้น 41.2 ล้านบาท แต่หากผิดชำระจะมีค่าปรับวันละ 100 บาทโดยสัญญานี้พรรคอนาคตใหม่ได้รายงานมาว่า ปัจจุบันได้ชำระแล้ว 26.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 งวดห่างกันครั้งละ 10 วัน โดยชำระเป็นเงินสดทั้งหมด

สัญญาที่ 2 ทำเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 จำนวนวงเงิน 30 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี

โดยทั้ง 2 ฉบับมีชื่อ นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค เป็นผู้รับสัญญาผู้กู้

โดยนายธนาธรขึ้นบรรยาย ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า “ผมให้เงินพรรคยืมอยู่ 110 ล้านบาท ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ พรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลา สำหรับการหาเสียง โดยพรรคอนาคตใหม่เพิ่งมีตัวตนทางกฎหมาย วันที่ 3 ต.ค. 2561 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถระดมเงินได้ทันการเลือกตั้ง แต่เราก็ไม่ต้องการทำเหมือนพรรคอื่น เราต้องการความโปร่งใส ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้เงินพรรค แล้วบอกว่า ‘ให้พรรคใช้เงินก้อนนี้โดยไม่ต้องแจ้ง กกต. แต่ผมต้องการจะเปิดเผยแบบตรงไปตรงมา เราจึงแจ้งเรื่องเงินก้อนนี้ รวมถึงวิธีการใช้เงินของเรา”

นายธนาธร ยังให้สัมภาษณ์กับ Workpoint News ด้วยว่า “ผมปล่อยกู้ เก็บดอกเบี้ยเรตตลาดนะครับ คุณไปตรวจสอบได้”

บัญชีทรัพย์สินธนาธร อนาคตใหม่ ปปช

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เห็นว่ามาตรา 62 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2562 ระบุว่า พรรคการเมือง สามารถหารายได้ ด้วย 7 วิธี โดยใน 7 วิธีนั้น ไม่มีข้อไหนที่อนุญาตให้หาเงินจากการ “กู้ยืมเงิน” ดังนั้น จึงแจ้ง กกต. ว่าการกู้ยืมจากหัวหน้าพรรค ในลักษณะนี้ น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ด้านคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สรุปตัวเลขบัญชีทรัพย์สินที่ 'ธนาธร' ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน สรุปแล้ว มีการกู้ 2 ครั้ง คือ 161.2 ล้านบาท และ 30 ล้านบาท รวมสองครั้งเป็นตัวเลข 191.2 ล้านบาท

โดยรายละเอียดของมาตรา 72 ระบุว่า “ห้ามพรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

นายปิยบุตร กนกแสงสกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โต้แย้งว่า พรรคอนาคตใหม่ตั้งพรรคเดือน ต.ค. 2561 และ ณ เวลานั้น คสช. ยังไม่ปลดล็อกห้ามทำกิจกรรมการเมือง ขณะที่เหลืออีก 5 เดือนจะเลือกตั้งใหญ่แล้ว ทำให้พรรคไม่สามารถระดมทุนจากการบริจาคได้ และพรรคได้ศึกษากฎหมายแล้วไม่มีข้อใดห้ามพรรคการเมืองกู้ยืนเงิน เพราะพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน มีเสรีภาพที่จะสามารถทำได้ ซึ่งเมื่อนายธนาธรให้พรรคกู้ยืมเงิน เมื่อสามารถเปิดระดมทุนได้ พรรคก็จะทยอยใช้คืน

หลังจากกกต. ฟันธง ว่าพรรคอนาคตใหม่ผิดมาตรา 72 ขั้นตอน ณ เวลานี้ คือส่งให้เรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้ว มีคำตัดสินว่า “ไม่ผิด” เหตุการณ์ก็จะสิ้นสุดลงไป พรรคอนาคตใหม่ก็จะยังทำงานได้ตามปกติเช่นเดิม

21 พ.ค. 2562 นายศรีสุวรรณ ยื่นร้อง กกต. ขอให้ตรวจสอบ กรณีนายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน

22 พ.ค.2562 กกต.รับคำร้อง ตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 เป็นหลักเกี่ยวกับรายได้พรรคการเมืองหรือไม่

11 มิ.ย.2562 กกต.ได้เรียกนายศรีสุวรรณเข้าให้ข้อมูลสอบสวนเพิ่มเติม

8 ก.ค.2562 กกต.ได้มีหนังสือเชิญบุคคลในพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงให้ข้อมูล

20 ก.ย.2562 ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 มีการปล่อยเงินกู้ให้พรรคอนาคตใหม่กว่า 191 ล้านบาท

23 ก.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งขอส่งเอกสารพยานหลักฐาน (เพิ่มเติม) ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เผยแพร่เอกสารบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

18 พ.ย.2562 กกต.มีมติให้ขอเอกสารที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ซึ่งเคยขอจากพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ แต่พรรคอนาคตใหม่จัดส่งให้บางส่วนและขอขยายเวลาการจัดส่งเอกสารที่ยังไม่ได้จัดส่งออกไปอีก 120 วัน

26 พ.ย.2562 กกต.รับทราบการจัดส่งเอกสารบางส่วนของพรรคอนาคตใหม่ข้างต้น และมีมติให้ขยายระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารที่เหลือโดยให้จัดส่งภายในวันที่ 2 ธ.ค.2562

6 ธ.ค.2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงหลังส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาทให้ กกต. ไม่ทันกรอบกำหนดวันที่ 2 ธ.ค. 2562 ว่า กระบวนการสอบสวนคดีกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ที่ นายธนาธร รวมถึงเหรัญญิกพรรคและเลขาธิการพรรค เข้าให้ข้อมูลต่อ กกต.นั้น มีเอกสารที่เกี่ยวข้องการกู้พรรคได้ยื่นส่งต่อ กกต.ไปบางส่วนแล้ว เว้นแต่เอกสารบางอย่างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำ เนื่องจากมีจำนวนมากราว 100 แฟ้มที่รวมแล้วสูงเกือบ 3 เมตรและต้องเซ็นรับรองสำเนาทุกหน้า แต่แม้จะขอขยายเวลาจาก กกต.แล้วแต่ กกต.ไม่ขยายเวลาให้ ซึ่งเมื่อนับแล้วให้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

11 ธ.ค.2562 กกต. มีมติเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ โดยใช้มาตรา 72 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นฐานในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ สำหรับมาตรา 72 กำหนดว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ปฏิเสธแสดงความเห็น ด้านเลขาฯพรรคเชื่อกู้เงินจาก 'ธนาธร' ไม่ผิด เหตุไม่มีข้อห้ามบัญญัติไว้ ชี้ 'เงินกู้' ไม่ใช่รายได้ของพรรค แต่อยู่ในสัดส่วนของหนี้สิน

13 ธ.ค.2562 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ร.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงาน กกต. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. นำสำนวนคำร้องของคณะกรรมการ กกต. กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 191.2 ล้านบาท ฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เบื้องต้น ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำร้องพร้อมพยานหลักฐานที่ กกต. นำส่ง รวมถึงการลงชื่อรับรอง โดยใช้ระยะเวลาไม่นานในการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. เดินทางกลับทันที และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นอกจากนี้มีรายงานว่าในวันที่ 18 ธ.ค. 2562 จะมีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องรอดูว่าสำนวนคำร้องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมด้วยหรือไม่

ธนาธรแจง กกต_๑๙๐๔๓๐_0005.jpg

15 ธ.ค. 2562 สำนักงาน กกต. ชี้แจงเรื่อง "ระยะเวลาในการพิจารณากู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่" โดยย้ำว่า นายศรีสุวรรณ ได้มายื่นหนังสือ ต่อ กกต. ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2562 ขอให้ตรวจสอบ กรณี นายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน ส่วนเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ ได้มายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอส่งเอกสารพยานหลักฐาน (เพิ่มเติม) ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เผยแพร่เอกสารบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น นายศรีสุวรรณ จึงมิได้พึ่งมายื่นหนังสือต่อ กกต. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 และ กกต. มิได้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 89 วัน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

25 ธ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้อง กกต. และให้พรรคอนาคตใหม่แจ้งข้อกล่าวหา ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับคำร้อง

จะเห็นได้ว่า คดีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท ในชั้นการพิจารณาของ กกต. ได้รับคำร้องไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 ก่อนมีมติเสียงข้างมากให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 โดยใช้เวลาพิจารณาเกือบ 7 เดือนเต็ม

ธนาธร ประยุทธ์ แฟลชม็อบ สกายวอล์ก 23.jpg

ศาล รธน. ใช้เวลา 6 เดือนชี้ขาดอนาคตของ อนค. คดีล้มล้างปกครอง

อีกคดีสำคัญที่ชี้ชะตาอนาคตของ 'พรรคอนาคตใหม่' ซึ่งมีผลถึงขั้นยุบพรรคเช่นกัน โดยเป็นดาบที่สองที่พรรคอนาคตใหม่ต้องต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 21 ม.ค. 2563

สำหรับคดีดังกล่าว เป็นคำร้องที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องเพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 ตามลำดับใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มลังการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ทั้งนี้ความเป็นมาของคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตามลำดับดังนี้

11 เม.ย. 2562 นายณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ฟ้องผู้ถูกร้องทั้ง 4 ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ร้องขอศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำ ที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อครบ 15 วัน อัยการสูงสุดไม่ดำเนินตามที่ร้องขอ จึงยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

18 เม.ย. 2562 ยื่นคำร้อง ฟ้องผู้ถูกร้องทั้ง 4 ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ

15 พ.ค. 2562 นายณฐพร ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ร้องพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร นายปิยบุตร และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องทั้ง 4 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49

18 มิ.ย. 2562 มอบฉันทะให้ ว่าที่ร.ต.หญิง ปราถนา บุตรน้ำเพชร ยื่นคำร้องเพิ่มเติมเพื่อฟ้องผู้ถูกร้องทั้ง 4 ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49

19 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง

22 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ส่งหนังสือให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหา ภายใน 15 วัน

27 ก.ย. 2562 พรรคอนาคตใหม่ ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ผู้ร้อง คือ นายณฐพร ยื่นเอกสารโต้แย้งคำชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคอนาคตใหม่และยื่นคำแถลงปิดคดีในฐานะผู้ร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

19 ธ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้องของพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้อง ที่ขอให้เปิดไต่สวนพยาน และหลังจากนี้จะเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย

22 ธ.ค.2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือลงวันที่ 19 ธ.ค.2562 แจ้งมายังพรรคอนาคตใหม่ เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 คดีนี้ นายณฐพร ในฐานะผู้ร้องยื่นร้องพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว และผู้ถูกร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนพยานและคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยาน ฉบับลงวันที่ 22 พ.ย.2562 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัญธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2563 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอทั้งสองฉบับดังกล่าว

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ_191120_0010.jpg

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มาแรงแซงทางโค้งอีกคดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้เปิดไต่สวน-เตรียมนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “อิลลูมินาติ” ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยคดีนี้สืบเนื่องเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ได้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสิทธิ์และยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเป็นปฏิปักษ์-ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่า “คดีอิลลูมินาติ”

25 ธ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมและเห็นว่าคดีดังกล่าว มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

21 ม.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 21 ม.ค.2563 เวลา 11.30 น.

สำหรับคดีล้มล้างการปกครองฯ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ม.ค. 2563 ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการพิจารณาในชั้นศาล 6 เดือนก่อนจะรู้ผลแห่งคดีว่า 'พรรคอนาคตใหม่' จะยังคงมีสถานะอยู่หรือไม่ และกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่

  • 11 กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ มีสถานะ ส.ส.

1.นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

2.น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 1

3.นายชํานาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 2

4.พลโท พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 3

5.นายไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

6.น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรค

7..นายสุรชัย ศรีสารคาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค

8.น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค

9.นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค

10.น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค

11.นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค (ลาออก กก.บห.ภายหลัง) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง