วันนี้ (17 พฤษภาคม 2568) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ปาฐกถาพิเศษ “การสร้างความโปร่งใสในระบบการเงินและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมั่นคงและเป็นธรรม” ในการสัมมนาการคุ้มครองผู้บริโภค สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ของ คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายอับดุลอายี สาแม็ง รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร, นายสุไลมาน บือแนปีแน สภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ, ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ สภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ และ นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ ร่วมให้การต้อนรับ โดยมี ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้แทนจากสภาหอการค้าในจังหวัดชายแดนใต้ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ภาควิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า “วันนี้มาในฐานะรัฐบาล มารับฟังข้อเสนอของภาคส่วนต่าง ๆ และในฐานะตัวแทนของประชาชน ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดและอยากจะมาผลักดันให้ และจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับปรุงเงื่อนไขและต่ออายุโครงการซอฟท์โลนภาคใต้ ซึ่งโครงการปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้ ให้ขยายออกไป โดยในรายละเอียดของโครงการซอฟท์โลนภาคใต้ที่จะเสนอใหม่นี้ ได้เตรียมวงเงินไว้ทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Soft Loan) ให้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วยทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสถาบันการเงินที่ได้รับวงเงินซอฟท์โลน จะนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส รวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่โดยตรง“
สำหรับข้อเสนอแนวทางเพื่อเสริมความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของรัฐบาลนั้น ความเป็นมาในการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่รัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อลดข้อจำกัดในทางปฏิบัติบางประการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการในการช่วยฟื้นฟูกิจการ และลดภาระหนี้สินของประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับ ข้อเสนอแนวทางเพื่อให้การดำเนินโครงการ Soft Loan มีประสิทธิผลสูงสุด และคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นลูกหนี้ เสนอให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบาย อาทิ ในหลายกรณี ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องโดยการชำระหนี้เดิม ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ Soft Loan เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะไม่สามารถฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างแท้จริง และเสนอให้ผ่อนปรนข้อจำกัดดังกล่าวโดย ให้สามารถใช้ Soft Loan เพื่อชำระหนี้เดิมได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าฝ่ายเจ้าหนี้จะต้องปรับลดภาระของลูกหนี้ควบคู่กัน รวมถึง ข้อเสนอในการกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับ Soft Loan ต้องปรับลดภาระหนี้ ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เดิมลง หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เดิมให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้ รวมถึงการส่งเสริมการ “ปรับโครงสร้างหนี้” อย่างเป็นระบบ โดยอาศัย Soft Lioan เป็นกลไกในการเปลี่ยนผ่าน
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะถึงการบังคับใช้ลำดับการตัดชำระหนี้ตามเกณฑ์ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องปฏิบัติตามแนวทาง “การตัดหนี้แนวขวาง” ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2563) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้การชำระหนี้ของลูกหนี้สามารถลดเงินต้นได้จริง และไม่เกิดกรณีที่ประชาชนชำระหนี้เป็นเวลานานโดยหนี้ไม่ลด
สำหรับข้อเสนอแนะทั้งหมดเบื้องต้น ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ Soft Loan ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สามารถลดภาระดอกเบี้ยสะสมและภาวะหนี้เรื้อรังของลูกหนี้ เสริมสร้างความเป็นธรรมในระบบสินเชื่อ และต่อมาตรการภาครัฐ
นายสมพงศ์ สิมาพัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ในฐานะผู้แทนภาคธุรกิจในจังหวัดชายแดนใต้ นำคณะฯ เข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ และอวยพรให้ชนะอุปสรรคทั้งปวงเพื่อเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนต่อไป ทั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีกำหนดการลงพื้นที่พบปะประชาชนชาวจังหวัดยะลาในช่วงบ่าย ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในช่วงค่ำ