ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่รุนแรงเสียชีวิตเมื่อมีอาการป่วย นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย การดูแลผู้สัมผัสหรือสงสัยว่าสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้องตามแนวทางเวชปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางเวชปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
จากคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2561 ที่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบหลังสัมผัสโรคเข้าผิวหนัง ซึ่งเป็นการฉีดเข้าผิวหนัง 0.1 ซีซี. 2 จุดในวันที่ 0, 3, 7 โดยไม่ต้องฉีดวันที่ 28 ซึ่งเป็นเข็มสุดท้ายของสูตร modified TRC-regimen เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางและค่าวัคซีน
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำใหม่อ้างอิงการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านเพียงการศึกษาเดียว และอีกทั้งไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของการฉีดแบบนี้ร่วมกับการฉีดอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจมีผลทำให้ระดับภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่ยังพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินงานในส่วนของการปรับปรุงคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรมควบคุมโรค ได้เชิญประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1/2561 ไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2561 มีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิตและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุม
และที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า และการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน ตามคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกเรียบร้อย ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า ซึ่งเป็นการฉีดก่อนสัมผัสโรคสำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทำงานสัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้ฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง ขนาด 0.1 ซีซี. 2 จุด ในวันที่ 0, 7 เท่านั้น และ 2.การฉีดอิมมูโนโกบูลิน ให้ฉีดเข้าในและรอบบาดแผลอย่างทั่วถึงโดยไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนที่เหลือเข้าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สำหรับการทดสอบการแพ้ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแจ้งโรงพยาบาล ในสังกัดให้ทราบและถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2561 และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการแจ้งบริษัทวัคซีนเพื่อปรับปรุงเอกสารกำกับยาให้มีผลตามกฎหมายไทย
ในส่วนของสูตรการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรคยังคงให้ปฏิบัติเช่นเดิมตามแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2559 เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ ซึ่งสถานพยาบาลในประเทศไทยใช้เป็นแนวทางในการให้บริการผู้ถูกสัตว์กัดข่วน ที่มี 2 แบบ ได้แก่ 1.ฉีดเข้าในผิวหนัง ใช้วัคซีนฉีด 0.1 ซีซี. 2 จุด จำนวน 4 ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7, 30 และ 2.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ขวด ฉีด 5 ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7, 14, 30
สำหรับสูตรการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังที่ลดเหลือ 3 ครั้ง ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำนั้น สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มีข้อเสนอว่า จะทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ร่วมกับการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพื่อศึกษาระดับภูมิคุ้มกันจนถึงระยะ 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน ว่าสูงเพียงพอต่อการป้องกันโรคหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี และจะส่งผลการศึกษาให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่าควรลดจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกหรือไม่ โดยจะตัดสินใจบนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน