ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศปถ.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 กล่าวว่า ศปถ. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 531 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 47 ราย ผู้บาดเจ็บ 560 คน
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.83 ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.55 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.16 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.42 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.65 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.88
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,046 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,599 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 956,570 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 216,804 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 58,550 ราย ไม่มีใบขับขี่ 52,434 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครปฐม (จังหวัดละ 25 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครปฐม (31 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (27 – 29 ธ.ค. 62) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,504 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 159 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,549 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (48 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม (56 คน)
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศปถ. ได้สั่งการจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจดูแลเส้นทางสายหลัก – สายรองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง เน้นการปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ ควบคู่กับการใช้กลไกระดับพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ จิตอาสาพระราชทาน และอาสาสมัคร บูรณาการจัดตั้งด่านชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ
กรณีไม่สามารถป้องปรามได้ให้ประสานชุดเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ได้จัดชุดสายตรวจดูแลความปลอดภัยเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานรื่นเริง และสถานบันเทิง ในช่วงเวลา 23.00 – 02.00 น. เป็นพิเศษ เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี หากเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ให้ดำเนินคดีและขยายผลการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ปกครองและผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง