ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' ประเดิมคลับเฮาส์ เคลียร์ประเด็น "ตีเช็คเปล่าให้ประยุทธ์" แจงปมโยกงบฯ 1.6 หมื่นล้านไว้งบกลาง ย้ำการใช้งบส่วนนี้ 'ประยุทธ์' ไม่สามารถใช้ตามอำเภอใจได้ มีกระบวนการตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ด้าน 'ภูมิธรรม' เตือนฝ่ายประชาธิปไตยทะเลาะกันเองทำ 'ประยุุทธ์' ยิ้ม ขณะที่ 'ชลน่าน' ฟันธง ต.ค.นี้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำหลังเสร็จศึกซักฟอก

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 4 ส.ค. 2564 พรรคเพื่อไทยจัดรายการผ่านแอปพลิเคชัน 'คลับเฮาส์' ในหัวข้อ 'เพื่อไทย #ตีเช็คเปล่า ให้ประยุทธ์จริงเหรอ?' โดยมีบรรดาผู้บริหารพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ของพรรคร่วมชี้แจงข้อกังขาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา หลังเกิดกระแสโจมตีพรรคเพื่อไทยที่ลงมติเห็นชอบในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 ให้นำงบประมาณจำนวน 1.63 หมื่นล้านบาทไปลงไว้ในงบกลางเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ข้อกังวัลที่เกิดขึ้นจากสังคมหลังจากมีการผ่านงบประมาณประจำปี 2565 ที่ถูกตัดจาากส่วนต่างๆ ให้กับงบกลางเพื่อใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาโควิด โดยชี้ว่า หลักคิดของพรรคเพื่อไทยนั้นยืนนั้นให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ซึ่งตนได้คาดการณ์จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และหากภายในเดือน ส.ค. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมถึง 1 ล้านคน จะกลายเป็นวิกฤติใหญ่สำหรับประเทศไทย จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ และดำเนินการโดยเร็ว 

ขณะเดียวกันตนเชื่อว่า จากนี้ไปสามารถใช้กระบวนการตรวจสอบการใช้งบกลางในส่วนดังกล่าวได้ และยืนยัน่า พรรคเพื่อไทย จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จะไม่ปล่อยให้มีการใช้เงินตามอำเภอใจ โดยการตรวจสอบนั้นสามารถทำได้ 4 ขั้นตอนดังนี้ 

1.ใช้กระบวนการตรวจสอบทางสภา หากเห็นความไม่โปร่งใส่ ไม่ชอบมาพากล จะมีการตั้งกระทู้ถามในสภา

2.การตรวจสอบในขั้นที่ 2 คือการเฝ้าติดตามว่า งบประมาณที่รัฐบาลจะใช้นั้นตรงกับระเบียบของงบกลางหรือไม่ หากผิดระเบียบก็จะมีการยื่นตรวจสอบทันที ทั้งการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ 

3.พรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้ ไชยา พรมมา ส.ส. เพื่อไทย ซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ติดตามการใช้จ่ายงบระมาณอย่างใกล้ชิด 

และ 4.จะดำเนินการตรวจสอบโดย ส.ส. เขต ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อจะดูว่ามีใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ให้ประชาชนจริงหรือไม่ 

ด้านชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงอยู่ในเวลานี้ คือ งบประมาณที่มีการตัดลดลงมาจากหน่วยงานต่างๆ ควรจะนำไปใช้เพื่ออะไร หรือนำไปให้หน่วยงานใดทำอะไร ซึ่งในประเด็นนี้ ตนมองการเมืองและการบริหารงานตามสภาพความเป็นจริง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ ที่กำลังมีความเห็นต่างกันในประเด็น ทุกพรรคล้วนเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา 

ทั้งนี้กรรมาธิการที่หน้าที่ในการตัดสินใจว่า งบประมาณที่มีการตัดมานี้จะนำไปทำอะไร ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี และตัวแทนจากพรรคการเมืองตามสัดส่วนทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล รวมแล้วมีทั้งหมด 72 คน คือตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี 18 คน ตัวแทนจากพลังประชารัฐ 13 คน ภูมิใจไทย 7 คน ประชาธิปัตย์ 6 คน รวมของแล้วในซีกรัฐบาลทั้งหมด 48 คน 

ขณะที่ซีกฝ่ายค้านประกอบด้วย เพื่อไทย 15 คน ก้าวไกล 6 คน และมีอีกพรรคละ 1 คน ประมาณ 2-3 พรรคการเมือง รวมแล้วมีทั้งหมด 24 คน 

ฉะนั้นตามตัวเลขของทั้งสองซีก ก็แสดงให้เห็นชัดว่าเสียงข้างมากของคณะกรรมมาธิการชุดนี้อยู่ฝั่งรัฐบาล และตามความตั้งใจที่ต้องการให้โอนงบประมาณไปให้ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข ศึกษาธิการ และอื่นๆ นั้นหากรัฐบาลรวมเสียงกันไม่เห็นด้วยก็เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก 

“อยากจะกราบเรียนว่า การที่เรามาเถียงกันอยู่มันเป็นไปไม่ได้ พูดง่ายคือเรามาเสียแรงมาถกเถียงกันมันจะดีหรือ เอาเวลามาคุยกันว่าจะล้มคุณประยุทธ์อย่างไรไม่ดีกว่าหรือ” 

ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ชูศักดิ์ ชี้ว่า เกิดจากกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติให้โอนงบกลับไปที่งบกลาง เพื่อแก้ปัญหาโควิด เพราะนี่คือปัญหาที่ยึดยาว และประชาชนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยคาดว่าสถานการณ์จะไม่สิ้นสุดภายในปีนี้แน่นอน จึงคิดว่าควรนำงบประมาณไปใช้เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาโควิด 

แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อโอนงบกลับไปสู่งบกลางนั้น ผู้ที่มีอำนาจในการใช้งบประมาณในส่วนนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในกรณีที่ต้องการใช้งบเกินกว่า 100 ล้านบาทก็จะต้องนำเข้าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ปัญหาคือนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เองก็ไม่ได้อยู่ภายใต้สายตาแห่งความไว้วางใจของประชาชน จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า นี่เป็นการตีเช็คเปล่าให้พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ 

ต่อมาผู้ดำเนินรายการได้รวบรวมคำถามจากโซเชียลมีเดียในช่องทางต่างๆ มาสอบถามกับผู้บริหารพรรคเพื่อไทยโดยตรง คำถามแรกคือ งบประมาณที่ถูกตัดไปนี้ทำไมจึงต้องนำไปไว้ที่งบกลาง สามารถนำไปใส่ไว้ที่ส่วนอื่นๆ เช่น งบสาธารณสุข หรือนำไปเพิ่มศักยภาพให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้หรือไม่ 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง ชี้ว่า กระบวนการพิจารณางบประมาณในวาระที่ 2 หลังจากที่คณะกรรมาธิการได้ประชุมกันแล้ว และได้เรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจง หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดเล็กเพื่อพิจารณาปรับลดงบประมาณในส่วนต่างๆ ที่สุดแล้วมีการตัดลดงบประมาณจาก 9 อนุกรรมาธิการ 

โดยการปรับลดนี้เป็นการพิจารณารวมกันของจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อรีดไขมัน และสามารถรีดออกมาได้ 662,000 ล้านบาทโดยประมาณ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามบุคคลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการใช้งบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้นการเพิ่มงบประมาณกลับไปในส่วนต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี จะต้องเสนอผ่านสำนักงบประมาณ เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณา โดยมีรายการที่ผ่านเข้ามาประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และหนึ่งในรายการที่ขอเพิ่มนั้นคืองบกลางซึ่งขอมา 5 หมื่นล้านบาท 

แต่เมื่อได้พิจารณาดูแล้วรายการที่ขอเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโควิดนั้น อยู่ในส่วนของงบกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วมติของพรรคเพื่อไทยนั้นต้องการที่จะให้กับส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญ แต่ในคำแปรญัตติขอเพิ่มงบประมาณของแต่ละกระทรวงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตรง และเหลือเพียงส่วนของงบกลางเท่านั้นที่เขียนวัตถุประสงค์ในการใช้เงินไว้อย่างชัดเจนว่า จะสำรองไว้แก้ไขปัญหา เยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า ในส่วนของกรรมาธิการนั้นไม่สามารถเสนอได้ว่าจะโยกงบประมาณไปที่ส่วนไหน โดยต้องพิจารณาจากข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรีเท่านั้น 

เพื่อไทย clubhouse -9BE1-A730F0204D2A.jpeg


ต่อมาผู้ดำเนินรายการถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า งบประมาณที่เพิ่มเข้าไปที่งบกลางนั้นจะถูกนำไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิดจริงๆ และในทางปฏิบัติงบประมาณในส่วนนี้จะถูกเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้นำไปใช้ในส่วนอื่นๆ เช่นการปราบม็อบ การสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคฝ่ายรัฐบาล หรืออื่นๆ เรื่องลักษณะนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ 

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ระบุว่า การใช้งบจากงบกลางนั้น ทุกรายการจะต้องมีแผนงานทั้งหมด ซึ่งงบในส่วนนี้ได้ระบุชัดเจนว่าใช้เฉพาะกรณีโควิดเท่านั้น และก่อนที่สำนักงบประมาณจะอนุมัติก็จะต้องพิจารณาดูว่า รายการขอใช้งบนั้น มีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโควิดจริงหรือไม่ และเชื่อว่าข้าราชการไม่กล้าที่ร่วมในกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุ เพราะจะติดคุกกันหมด 

“บางครั้งเราคิดกันไปเอง ว่าเอาไปแล้วเป็นการตีเช็คเปล่า ประยุทธ์จะเอาไปทำอะไรก็ได้ ไม่จริงครับ เป็นไปไม่ได้ จะเอาไปใช้ตามอำเภอใจเป็นไปไม่ได้ คนที่เคยเป็นผู้บริหารเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นคนที่อยู่ใกล้กับงบประมาณรู้ว่า งบประมาณจะเอาไปใช้ตามอามรณ์ ใช้สะเปะสะปะเป็นไปไม่ได้เลย”

วรวจน์ กล่าวต่อด้วยว่า การโยกงบไปที่งบกลางนั้นทางคณะกรรมาธิการเองก็ไม่ได้เต็มใจ แต่ว่างบประมาณนี้ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตอนนั้นไม่มีหน่วยไหนเลยที่มีรายการเกี่ยวกับโควิด เพราะเวลานั้นต่างก็คิดกันว่าโควิดในประเทศไทยจบไปแล้ว แต่พอถึงเวลานี้ก็ไม่สามารถพลิกกลับทันแล้ว แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มให้กับงบส่วนกลาง แต่เรื่องก็ไม่สามารถไปเพิ่มให้ส่วนอื่นๆ 

“แม้ว่าเราไม่เห็นด้วยเราก็ไปตรงอื่นไม่ได้ และจริงๆ ซีกรัฐบาลเขาโหวตเอาลงงบกลาง เราไปปฏิเสธก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่เอาพรรคร่วมฝ่ายค้านจะถูกกล่าวหาด้วยซ้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโควิด”

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ ด้วยว่า ข้อครหาว่าเพื่อไทยตีเช็คเปล่าให้ประยุทธ์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการที่โหวตให้นั้นเขียนชัดเจนว่า ให้นำไปใช้ในการแกไขปัญหาโควิดเท่านั้น และการที่จะนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คิดเอง ทำเอง กระบวนการการใช้งบนั้นจะมาจากหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้ขอเข้ามา เช่น กระทรวงสาธารณสุข อาจจะของบประมาณสำหรับเตรียมโรงพยาบาลสนาม หน่วยงานที่ต้องการเตียงสนามก็จะต้องขอผ่านกระทรวง กระทรวงก็จะต้อง เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุขเห็นชอบก็จะส่งไปยังสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณก็จะกรองรายกาารทั้งว่าเป็นไปตามระเบียบการใช้งบกลางเพื่อแก้ปัญหาโควิดหรือไม่ 

“ถ้าบอกว่า เราตีเช็คเปล่าให้ประยุทธ์ ตอนอนุมัติงบปี 2564 ทำไมเราไม่พูดอย่างนี้ ตอนนี้เราก็อนุมัติงบกลางสำหรับแก้ปัญหาโควิดไป 4 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นคำว่า ตีเช็คเปล่า จะมาพูดฉะนั้นงบประมาณปี 2565 ก็ไม่เป็นธรรมนักโดยเฉพาะที่บอกว่า เพื่อไทยตีเช็คเปล่าให้ประยุทธ์ เพราะมันเป็นกระบวนการของสภา ถ้าสภาอนุมัติก็คือ อนุมัติ ถ้าไม่อนุมัติ ก็คือไม่อนุมัติ ก็ไปดูกันตอนลงมติวาระที่ 3 ว่าพรรคเพื่อไทยเราจะทำอย่างไร”

นอกจากนี้การขอใช้งบนั้นมีระเบียบกำหนดไว้ว่า หากเป็นการขอใช้งบไม่ถึง 10 ล้านบาท นั้น ผอ.สำนักงบประมาณสามารถอนุมัติได้เลย โดยผ่านการกลั่นกรองด้วยว่าเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโควิดหรือไม่ แต่ต้องแจ้งรายงานนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบเท่านั้น แต่หากเกินกว่า 10 ล้าน แต่ไม่ถึง 100 ล้านจึงจะนำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีเห็นว่าต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็สามารถทำได้ และเท่าที่ทราบมานายกรัฐมนตรีเองก็กลัวเกี่ยวกับเรื่องการอนุมัติใช้เงินประมาณ จึงมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบทุกครั้ง และเมื่อผ่านมติ ครม. ก็จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถตรวจสอบได้ และในกรณีที่มีการขอใช้งบเกิน 100 ล้าน นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเพียงแค่เสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบอย่างเดียว ไม่มีสิทธิอนุมัติด้วยตนเอง และที่สำคัญเรื่องนี้สามารถตรวจสอบการขอใช้งบได้ทุกก้อน ตามอำนาจหน้าที่ของส่วนที่เกี่ยวข้อง

ภูมิธรรม -209B-4FD9-8F9E-A77D5F8DBA50.jpeg

'ภูมิธรรม' ติงฝ่ายค้านทะเลาะกันทำ 'ประยุทธ์' นั่งยิ้ม

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า กมธ.ไม่ว่าจะพรรคก้าวไกลหรือพรรคฝ่ายค้าน ทางพรรคก้าวไกลอยากให้งบฯไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยอยากให้ไปไว้ในงบกลาง แต่พรรคก้าวไกลอยากให้นำงบไปไว้ในกองทุนต่างๆ เมื่อแพ้โหวตที่ประชุมใหญ่ก็ยังยืนยันความเห็นได้ แต่ต้องระมัดระวังการเสนอความเห็น อย่าทำให้คนที่เห็นแตกต่างกลายเป็นจำเลย จะทำให้ผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายไม่เข้าใจ ตนได้เป็นห่วงและตักเตือน กลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองมาทะเลาะกันแล้วกลายฝ่ายคุณประยุทธ์มานั่งยิ้ม ตนอยากฝากไว้ รู้กันอยู่แล้วใครจะโหวตอะไร ได้คุยกันแล้วด้วยซ้ำไป

คาด ต.ค.นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำหลังเผด็จศึกซักฟอก

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตอบถึงคำถามผู้ฟังเกี่ยวกับวาทกรรมตีเช็คเปล่าอยู่ในสื่อโซเชียลฯ ถ้ากล่าวหาพรรคก้าวไกลตีกินก็คงไม่ตรง โดยขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เหมือนเดิม เรามั่นใจจะไปติดตามกำกับตรวจสอบอยู่ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเก่งอยู่อย่างเดียว ตอนนี้ประชาชนจับจ้องมองอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าประเทศไทยปล่อยไว้ถึงเดือน ต.ค. ทุกคนจะตายด้วย และไม่ได้บอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงช่วง ต.ค.นี้ แต่คิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้วตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ถ้าประชาชนที่ออกไปตามท้องถนนก็ดี ก็เป็นมาตรการหนึ่งในปลายเดือน ส.ค.โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลง

ชัยเกษม 8416.jpg

'ชัยเกษม' ปัดตอบได้ถูกถามหากเป็นนายกฯ

นอกจากนี้ ผู้ฟังได้ถาม ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ว่าในอดีตเมื่อครั้งเป็นอัยการสูงสุดได้เคยฟ้องกรณีงบกลางหรือไม่ และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ หลุดนายกฯ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากได้เป็นนายกฯจะดำเนินการอะไรเป็นอย่างแรก โดย ชัยเกษม ระบุว่า คำถามนี้ตอบยาก ตนเป็นอัยการสูงสุดเคยฟ้องงบกลางบ้างหรือไม่ ต้องเรียนว่านึกไม่ออกจำไม่ได้ไม่มีเรื่องใหญ่ๆ ควรต้องจดจำ เพราะตนทำคดีมากมาย ก็คงเป็นหมื่นเป็นแสนคดี คงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ถ้าเป็นนายกฯ ที่จะต้องดำเนินการ เป็นคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่สามารถตอบคำถามกรณีดังกล่าวได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง