หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ของโลกสัญชาติจีน ประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการ 'ฮาร์โมนีโอเอส' (HarmonyOS) เวอร์ชันที่ 2 ซึ่งบริษัทเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ แบนไม่ให้ใช้
ริชาร์ด หยู ซีอีโอฝ่ายผู้บริโภคของหัวเว่ย กล่าวในงานเปิดตัวว่า บริษัทพยายามอย่างเต็มที่เพื่อในการพัฒนาการใช้งานสมาร์ตโฟนด้วยระบบปฏิบัติการที่บริษัทคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง
"เราอาจจะเริ่มขายสมาร์ตโฟนที่ใช้ฮาร์โมนีโอเอสกันตั้งแต่ปีหน้า" ริชาร์ด กล่าว
ริชาร์ด กล่าวว่า ปัจจุบันระบบปฏิบัติการของหัวเว่ยรองรับแอปพลิเคชันอยู่ราว 9.6 หมื่นแอปฯ เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 6 หมื่นในเดือน พ.ค.ทั้งยังมีตัวเลขผู้พัฒนาแอปฯ เข้ามาร่วมมากถึง 1.8 ล้านรายแล้ว
ในระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่นี้ หัวเว่ยจะเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเข้าใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันทดลองสำหรับอุปกรณ์อย่างสมาร์ตวอตช์หรือโทรทัศน์ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.และจะเปิดให้ผู้พัฒนาใช้ระบบปฏิบัติการเพื่อสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ ในสมาร์ทโฟนหลังเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้
ขณะ ไบรอัน หม่า รองประธานสถาบันวิจัยไอดีซี ชี้ว่า การเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่นี้อาจเรียกความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตได้บ้างในมิติของการเป็นแผนสำรองหากสินค้าของบริษัทตนเองถูกแบนจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน แต่ยังเชื่อได้ว่า หลายฝ่ายคงยังไม่อยากร่วมงานกับหัวเว่ยมากเท่าไหร่
ความขัดแย้งและการกีดกันหัวเว่ยในการเจาะตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดโลกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ในช่วงเดือน ก.พ.ซึ่งขณะนั้น คริส เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ออกมาตั้งข้อสังเกตและแสดงความกังวลต่อคณะกรรมการนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ต่อประเด็นการจัดซื้ออุปกรณ์จากทั้งหัวเว่ยและ ZTE
กระแสการตั้งข้อสงสัยต่อความโปร่งใสของบริษัทโทรคมนาคมมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จน 15 พ.ค. 2562 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในหนังสือคำสั่งพิเศษ ซึ่งมีผลให้แบนการซื้อขายสินค้ากับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากจีน
ใจความตอนหนึ่งของหนังสือฯ ระบุว่า ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พบว่า "ศัตรูต่างชาติ" กำลังใช้ช่องว่างและช่องโหว่ด้านเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อเข้ามากระทำการอันมุ่งร้ายต่อประเทศ อาทิ การจารกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งต่อประเทศและผู้คน ด้วยเหตุนี้ แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่เปิดให้มีการลงทุนอย่างเสรี แต่ความเปิดกว้างดังกล่าวก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุลและการปกป้องความปลอดภัยของประเทศ
ไม่นานหลังมีประกาศดังกล่าว กูเกิล บริษัทเจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ ออกมาประกาศยุติความร่วมมือในอนาคตกับหัวเว่ย แม้จะชี้ว่าระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่อยู่ในสมาร์ตโฟนปัจจุบันของหัวเว่ยจะไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม
เพื่อหาทางรอดให้ตัวเอง เมื่อ ส.ค. 2562 หัวเว่ย เปิดตัวระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีโอเอสเวอร์ชันแรก ในงานประชุมผู้พัฒนาของบริษัท หรือ Huawei Developer Conference (HDC) โดย ริชาร์ด หยู ย้ำในตอนนั้นว่า 'ฮาร์โมนี' พร้อมนำมาใช้งานบนสมาร์ตโฟนแล้ว แต่เพื่อคำนึงถึงความร่วมมือและระบบนิเวศน์การพัฒนาแอปพลิเคชันบริษัทจะยังไม่นำระบบปฏิบัติการดังกล่าวมาใช้
อ้างอิง; WSJ, CNBC, Yahoo Finance, CNET