นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านการถมทะเลเอื้อประโยชน์ให้เอ็กซอน โมบิล ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาเปิดเผยว่ากลุ่มบริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ได้ยื่นข้อเสนอที่จะลงทุนเพื่อก่อสร้างท่าเรือ-โรงงานปิโตรเคมีมูลค่า 3.3 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะต้องจัดหาพื้นที่ให้ได้ในรัศมี 5 กม. จากโรงกลั่นเอสโซ่แหลมฉบังโดย กนอ.มีแผนที่จะถมทะเลในพื้นที่แหลมฉบังเพื่อรองรับ 1-3 พันไร่ให้นั้น
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การถมทะเลเพื่อประกอบการท่าเรือ-โรงงานปิโตรเคมีซึ่งเป็นเพียงอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมต้นน้ำไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ตามนโยบายของ EEC ที่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างนวัตกรรม หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงขัดหรือแย้งต่อพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 โดยตรง
ทั้งนี้ การถมทะเลดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งผลกระทบต่อวิถีทางการประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวของชุมชนในบริเวณทะเลแหลมฉบัง อ่าวอุดม เกาะสีชัง อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งสังคมไทยมีบทเรียนที่เจ็บปวดในการถมทะเลที่มาบตาพุดมาแล้ว และอาจส่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติตามมาอีกด้วย เพราะท่าเรือสามารถปรับใช้เป็นฐานยิงขีปนาวุธได้ และเป็นฐานสอดแนมข่าวกรองสารสนเทศในพื้นที่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นพื้นที่นี้ก็จะกลายเป็น พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่มีขอบเขตตลอดทั้งอ่าวไทยและทะเลจีนใต้รวมถึงฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมดด้วย ซึ่งรัฐบาลจะต้องศึกษาใคร่ครวญให้จงดีด้วย มิฉะนั้นอาจกลับกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้านที่อันตรายที่สุด ตามที่ ทษป.รองนายกฯเคยโพสต์ไว้ก็ได้
นอกจากนั้น การถมทะเลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทต่างชาติอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามกฎหมายไทยได้ อันเป็นการขัดต่อ ม.43(2) ประกอบ ม.50(2) (8) โดยชัดแจ้ง นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ตาม ม.52 ม.53 ม.57 และ ม.58 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย
หากรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเดินหน้าผลักดันการถมทะเลเพื่อตอบสนองทุนจากต่างชาติดังกล่าว ประชาชนคนไทยทุกคนก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.41(3) ในการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อระงับการใช้อำนาจดังกล่าวได้ทันที ดังนั้น รัฐบาลและ กท.อุตสาหกรรมควรล้มเลิกการกระทำที่เสี่ยงต่อความมั่นคงและการสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเสีย ไม่เช่นนั้นคงต้องไปจบลงที่ศาลแน่นอน