โดยตั้งกรรมการสอบสวน และทาง ร.ร.การบิน ได้ลงโทษ 1.งดบิน 2.กักบริเวณ 2 สัปดาห์ 3.ธำรงวินัยอย่างหนัก 3 วัน 4.ตัดคะแนนความประพฤติเต็มเพดาน หากกระทำผิดใดๆ แม้แต่นิดเดียว จะถูกขับออกจากศิษย์การบิน และ 5.หากมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาในกรณีดังกล่าว และถูกตัดสินว่าผิดจริง จะถูกปลดออกจากราชการ โดยขณะนี้ยังไม่ถูกไล่ออกจากราชการทหาร
ทั้งนี้ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ได้เน้นย้ำกำลังพลว่าไม่ปิดกั้นเรื่องการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ควรพาดพิงบุคคลอื่นในลักษณะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และตระหนักถึงความรักความสามัคคีของคนในชาติเป็นสำคัญ
สำหรับกรณี “เรืออากาศตรี” คนดังกล่าว มีการมองว่าเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ระอุขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์ปะทะอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ “ตำรวจ” เป็นเป้าทางการเมือง และกำลังลุกลามมายัง “ทหาร” ที่เป็นเป้าต่อไป
แต่กรณีของ ทอ. ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในกองทัพ โดยที่ผ่านมามีการลงโทษกำลังพลในเหล่าทัพต่างๆในกรณีการใช้โซเชียลมีเดียหลายกรณี โดยเฉพาะ กรณี ทบ. มีการลงโทษไปหลายครั้ง ทั้งที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นการเมืองและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงสื่อโซเชียลมีเดีย จึงทำให้ ทบ. ต้องออกคำสั่งกำชับกำลังพลมาตลอด เพื่อให้ ‘เป๊ะ’ มากที่สุด แม้แต่ท่าทางเวลาถ่ายภาพ ก็ถูกควบคุมด้วย 6 ท่าต้องห้าม
ยิ่งในยุคนี้ ‘ผู้ใต้บังคับบัญชา’ กระทำผิดวินัย ก็สะเทือนถึง ‘ผู้บังคับบัญชา’ ด้วย เพราะต้อง ‘รับผิดชอบ’ ร่วมกันตามลำดับขั้น
สำหรับคำสั่งฉบับล่าสุดคือ เมื่อ ก.ย. 2563 ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ได้ออกคําสั่งกองทัพบกที่ 388 / 2563 ลงวันที่ 9 ก.ย. 2563 เรื่องแนวทางการดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดและหาก ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับกระทรวงกลาโหมและคำสั่งกองทัพบกถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 ,11 และ 32 ตามแต่กรณี ซึ่งบังคับใช้ควบกับ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ.2499
สำหรับ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ.2499 เริ่มประกาศใช้ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขหลายครั้ง เช่นในปี 2511-2512 และ 2519 โดยมีทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่
ข้อ 5 ข้าราชการกลาโหมผู้ใดได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณีเพื่อทราบ
ข้อ 6 ข้าราชการกลาโหมจะเข้าร่วมประชุมอันเป็นการประชุมของพรรคการเมืองเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมิใช่ในเวลาราชการ ความในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับข้าราชการกลาโหมที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา
ข้อ 7 ข้าราชการกลาโหมจะต้องปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือเกี่ยวกับประชาชนด้วยการวางตนเป็นกลาง โดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และไม่กระทำการให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และแบบธรรมเนียมของทหาร
ข้อ 8 ข้าราชการกลาโหมจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม ดังต่อไปนี้
(1)ห้ามมิให้ใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เขตสถานที่ราชการในกิจการทางการเมืองไม่ว่าด้วยการกระทำหรือด้วยวาจา ยกเว้นสโมสรซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ
(2)ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน
(3)ไม่แต่งเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้ร่วมประชุมพรรคการเมืองหรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใด ๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
(4)ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในสถานที่ราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในเวลาสวมเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้
(5)ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการทุกๆ แห่ง
(6)ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือประชาชนทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือโทษเฉพาะเหตุที่ผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
(7)ไม่ทำการขอร้องหรือบังคับให้บุคคลใดอุทิศเงิน หรือทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
(8)ไม่เขียนจดหมาย หรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมือง และไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน
(9)ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่างๆ อาทิ เช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือพรรคการเมืองเพื่อ ให้นำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอผู้แทนหรือวุฒิสภา หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นต้น
(10) ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองให้กระทำการดังกล่าวเช่นนั้นได้ และในทางกลับกัน ไม่กีดกันตำหนิติเตียนทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(11) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกัน ไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ทั้งนี้เมื่อ ก.ย. 2563 ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. นั้น กองทัพบก ได้ทำโปสเตอร์ติดภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยระบุ สิ่งที่กำลังพลสามารถทำได้ ดังนี้
1.การสมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบกทราบ
2. การเข้าร่วมประชุมทางการเมืองในฐานะส่วนตัวได้แต่ต้องไม่สวมเครื่องแบบและไม่ใช้ในเวลาราชการ
3. ปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยการวางตนเป็นกลางโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะแต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
4. ลงคะแนนเสียง/แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อผู้ลงสมัครได้
5. การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถกระทำได้โดยไม่แต่งเครื่องแบบและไม่ใช้เวลาราชการทั้งนี้ในการเข้าร่วมประชุมในที่สาธารณะนั้นต้องเป็นไปอย่างสงบ
ส่วนสิ่งที่กำลังพลไม่สามารถกระทำได้ มีดังนี้
1. ไม่กระทำการใดๆอันมีลักษณะพาดพิง ส่อเสียด ล้อเลียน สถาบัน รัฐบาล และผู้บังคับบัญชา
2. ไม่แต่งเครื่องแบบหรือชุดอื่นใดรวมถึงใช้ตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นทหารเข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมืองหรือไปร่วมชุมนุมในที่สาธารณะอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
3. ไม่ประดับเครื่องหมายหรือแต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ
4. ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชา ทั้งโดย ตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดและไม่กระทำการในทางให้คุณหรือให้โทษ
5. ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อการทำกิจการต่างๆ
6. ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลา ที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง
7. ไม่โพสต์ข้อความทางการเมืองในเวลาราชการในสถานที่ราชการหรือใช้คอมพิวเตอร์ของราชการรวมถึงห้ามใช้ Account ของราชการร่วมกิจกรรมทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์
แต่ในขณะเดียวกันกองทัพก็ถูกโจมตีเรื่อง “การทำปฏิบัติการไอโอ” เพราะหลายครั้งมีกรณีที่ “โป๊ะแตก” ให้ได้เห็นกัน ทำให้กองทัพต้องออกมาชี้แจงแบบ “ลิงแก้แห” เพราะยิ่งแจงก็ยิ่งเข้าตัวเอง ทำให้หลายครั้งกองทัพใช้วิธีนิ่งสยบไป
ดังนั้นกองทัพจึงทุ่มสรรพกำลังไปกับการสู้กับ “ข่าวปลอม” ที่ทำให้กองทัพเสียหายแทน เช่น กรณีการเผยแพร่ข่าวปลอมว่า ทบ.ไทย ฉีดไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ เป็นต้น โดยเฉพาะ ทบ. ที่มักจะมีการทำข่าวปลอมโยงกับเรื่องการเมือง เช่น กระแสข่าวรัฐประหาร เป็นต้น
ทำให้กองทัพต้องรีบชี้แจง ซึ่งทั้งสองกรณีทาง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งให้ “ทหารพระธรรมนูญ” เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อความเท็จทันที
นอกจากนี้ในส่วนกองทัพ ยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 ที่ว่าด้วยวินัย 9 ข้อ การลงทัณฑ์ 5 สถาน ได้แก่
1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6. กล่าวคำเท็จ
7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
การลงโทษ
ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ
กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้
ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง
จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
ล่าสุดได้เกิดกรณี “กำลังพล ทอ.” ได้มาพูดเรียกร้องสิทธิบุคลากรด่านหน้ารพ.ภูมิพลฯ สังกัด ทอ. หลังมีรายชื่อตกหล่นไม่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และพบรายชื่อซ้ำในการลงทะเบียน ทำให้ ทอ. ต้องออกมาชี้แจงถึงปัญหาการลงทะเบียนที่ซ้ำซ้อน และชี้แจงว่าเป็นรายชื่อที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ โดยต้องไปดูว่าข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปได้อย่างไร แต่ก็ไม่สามารถทำเคลียร์สิ่งที่คาใจสังคงไปได้
แม้ว่า ทอ. จะยืนยันไม่คาดโทษกำลังพลที่ออกมาเรียกร้องก็ตาม แต่กลับมีการกำชับภายใน ทอ. คุมเข้มกำลังพลในเรื่องการส่งต่อข้อมูลตามมา
ในฝั่งตำรวจ เคยมีการออกคำสั่งคุมเข้มกำลังพล ในเรื่องการใช้โซเชียลฯ ช่วง พ.ย. 2563 ในสถานการณ์การชุมนุมที่สุกงอม ปลายปี 2563 ที่สืบเนื่องมาจากช่วงเดือน ต.ค. 2563
โดย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือบันทึกข้อความ ที่0001(จตช.)/035 เรื่อง กำชับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือ ตำแหน่งเทียบเท่า ซึ่งระบุตอนหนึ่งว่า
1.ให้กำชับข้าราชการตำรวจในสังกัด มิให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่องทางต่างๆ เช่น “TikTok” “Facebook” “Twitter” แสดงพฤติกรม หรือ แสดงความคิดเห็นต่างๆ ในลักษณะไม่เหมาะสม อันส่งผลให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยรวม
2.ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เอาใจใส่สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้ถือปฏิบัติตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค. 2537 อย่างเคร่งครัด
3.หากมีพบหรือปรากฏข้อมูลว่ามีข้าราชการตำรวจนายใด ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงพฤติกรรมหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในลักษณะไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยรวม ให้ผู้บังคับบัญชพิจารณาดำเนินการทางวินัยข้าราชการตำรวจดังกล่าวและผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งที่ 1212/2537ลง 1 ต.ค. 2537 ไปภายในอำนาจหน้าที่โดยเร็ว
สำหรับคำสั่งที่ 1212/2537 นั้น เป็นคำสั่งตั้งแต่ยุค “กรมตำรวจ” เรื่องมาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ ในสมัย พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา เป็น อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาให้มีแรงจูงใจในการรักษาวินัย การปลูกฝังทัศนคติต่างๆ เพื่อป้องกันการกระทำผิดวินัยผ่านการกวดขันต่างๆ และการดำเนินการตามวินัยหากกระทำผิด ตามที่มีพยานหลักฐาน ซึ่ง “หนังสือบันทึกข้อความ” ที่ให้กำชับกำลังพลนั้นมีอยู่ทุกยุค
อย่างไรก็ตามในแต่ละเหล่าทัพยังมี “ระเบียบ-คำสั่ง” ย่อยอื่นๆ นอกเหนือที่กล่าวในข้างต้น จึงทำให้การ “กระทำผิด” หรือ “กระทำไม่เหมาะสม” ในบางกรณี ถูกลงโทษหลายกฎระเบียบ
หากดูจาก “กฎ-ระเบียบ” ทั้งหมดนี้ ชี้ชัดว่าเป็นสิ่งควบคุม “ทหาร-ตำรวจ” ในการมาเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลับเป็นการ “ปิดกั้นสิทธิ” ตาม รธน. และในความเป็นจริงแล้วนั้น กลับพบว่าในแต่ละยุคมี “นายทหาร” เข้ามา “แทรกแซงการเมือง” ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของ “วิกฤตการเมือง” อันนำมาสู้เหตุการณ์นองเลือดกลายครั้ง ดังนั้นการไม่ให้กำลังพล “แสดงออกการเมือง” จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาเอา “เหล่าทัพ” ออกจากการเมืองอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่จะเอา “เหล่าทัพ” ออกจากการเมืองได้คือการสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยแบบสากล” ในกองทัพ ที่ “ทหาร-ตร.” มีสิทธิทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ โดยไม่กระทำการขัดขวางประชาธิปไตย เช่น ทำรัฐประหาร , การพูดโจมตีทางการเมือง , ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น
แม้ว่า “เหล่าทัพ” จะทำทีว่า “เปิดกว้าง” ให้กำลังพลได้แสดงออก แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ระเบียบเรื่อง “การแสดงออก” ของเหล่าทัพถูกบังคับใช้ “บนฐานความเหมาะสม” เป็นหลัก
ทำให้ไม่มีมาตรฐานชัดเจนว่า “อะไรทำได้-ทำไม่ได้” หรือ “ทำได้แค่ไหน” จึงทำให้สังคมภายในกองทัพยิ่ง “ถูกกดทับ” ปัญหาต่างๆไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด และกำลังพลไม่สามารถแสดงออกตามที่สิทธิที่มีตามระเบียบ
ซึ่งจุดนี้เองทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เกลือเป็นหนอน” ขึ้นมา เช่น เอกสารหลุด หรือ การใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียผ่านร่างอวตารต่างๆ รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์ “อดีตทหาร-ตร.” ออกมาแฉเหล่าทัพให้เห็นอยู่ตลอด
ยิ่งปิด เสียงยิ่งดัง !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง