หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า รัฐบาลจีนออกมาประกาศการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ในบางโรงพยาบาลเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
ตามถ้อยแถลงของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของเทศบาลกรุงปักกิ่งชี้ว่าจาก "ข่าวลือบนโลกออนไลน์ว่ายาต้านโรคเอดส์ถูกนำมาใช้และได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถรักษาโรคที่่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาได้" เป็นความจริงและปัจจุบันกรุงปักกิ่งมียาโลปินาเวียร์และริโทนาเวียร์อยู่ในคลังเรียบร้อยแล้ว
โรงพยาบาลในปักกิ่งทั้ง 3 แห่ง ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ยาดังกล่าวรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนาได้แก่ โรงพยาบาลปักกิ่งตี้ถาน, โรงพยาบาลปักกิ่งโย่วอัน และศูนย์การแพทย์ที่ 5 ของโรงพยาบาลกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ยาต้านเชื้อ-HIV ทำงานอย่างไร
ยาโลปินาเวียร์และริโทนาเวียร์จัดอยู่ในยาต้านการติดเชื้อรีโทรไวรัส ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้รักษาเอชไอวีให้หายขาดแต่มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อเอชไอวีที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นในร่างกายและช่วยชะลอความเสียหายของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันความเจ็บป่วย
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) ที่ผ่านมา จากกรณีการติดเชื้อของผู้ป่วยไวรัสโคโรนาจำนวน 41 รายในจีนพบว่า การใช้ยาดังกล่าว "มีประโยชน์ทางการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม" (substantial clinical benefit) กับโรคซาร์สที่เคยเกิดขึ้นในปี 2545 และ 2546
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันว่า "ยังไม่มียาต้านไวรัสโคโรยาไหนที่ถูกพิสูจน์ว่ารักษาโรคหายได้"
ขณะที่แอนโทนี ฟูซี ผู้อำนายการสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐชี้ว่า ในการประชุมเร่งด่วนครั้งล่าสุด ทีมนักวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนากำหนดเป้าหมายในการทดลองวัคซีนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากวัควีนถูกพัฒนาตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะถือเป็นการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดในโลก
ทีมพัฒนาวัคซีนของฟูซีที่ร่วมมือกัน โมเดอร์นา บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ กำลังร่วมมือผลิตวัคซีนที่มีพื้นฐานมาจากอาร์เอ็นเอ (RNA) หรือ กรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic acid – RNA) ที่ทำหน้าที่เหมือนแม่แบบสำหรับแปลข้อมูลจากยีนไปเป็นข้อมูลในโปรตีน แล้วขนย้ายกรดอะมิโนเข้าไปในออร์แกเนลล์ไรโบโซมของเซลล์ เพื่อผลิตโปรตีนและแปลรหัสเป็นข้อมูลในโปรตีน
ด้านที่ฝั่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลียกำลังพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนที่เรียกว่า 'molecular clamp' หรือแปลเป็นไทยว่า 'การหนีบในระดับโมเลกุล' ซึ่งเป็นการส่งยีนเข้าไปจับกับโปรตีนหลากหลาย เพื่อทำให้โปรตีนเหล่านั้นสมดุลและหลอกร่างกายให้ติดว่ากำลังเจอกับไวรัสที่มีชีวิตและสร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดไวรัสเหล่านั้น
โดยเคธ แชปเปล ผู้เชี่ยวชาญภาคเคมีจากมหาวิทยาลัยชี้ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะสร้างแพลตฟอร์มในการสร้างวัคซีนในไวรัสที่หลากหลายทั้งในมนุษย์และสัตว์