ไม่พบผลการค้นหา
ศาลวินิจฉัยว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องรับผิดชอบ 'คดีสังหาร' ตลอดจนคดีซ้อมทรมานชาวอินโดนีเซียอย่างไม่เป็นธรรมในยุคอาณานิคมดัตช์ พร้อมนัดเบิกตัวฝ่ายโจทก์มาให้ปากคำ

ศาลอุทธรณ์ในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ระบุว่า การกระทำผิดในคดีสังหารและซ้อมทรมานชาวอินโดนีเซียอย่างไม่เป็นธรรมในยุคอาณานิคมดัตช์ ไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นนานมากแล้ว

คำตัดสินดังกล่าวสืบเนื่องจากคดีที่ชาวอินโดนีเซีย 6 ราย เป็นชาย 5 ราย และหญิง 1 ราย ระบุตัวตนว่าเป็นทายาทของชาย 5 คนที่ถูกทหารดัตช์ในยุคอาณานิคมซ้อมทรมานและสังหารอย่างไม่เป็นธรรมในปี 1947 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามในอินโดนีเซียเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอาณานิคมดัตช์ และทายาทของชายทั้ง 5 คนยื่นเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า คดีหมดอายุความ และทั้งหมดได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ในเวลาต่อมา

จนกระทั่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยล่าสุดว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของอาณานิคมดัตช์ในอดีต และคำชี้แจงของรัฐบาลที่มองว่าคดีดังกล่าว"ไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบ" เป็นเรื่อง "ฟังไม่ขึ้น" เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลดัตช์ในอดีตก็มีส่วนผิดที่เพิกเฉยต่อกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาหลังสิ้นสุดสงคราม โจทก์ทั้ง 6 คนจึงมีสิทธิชี้แจงและพิสูจน์ตัวตนต่อศาลว่าเป็นทายาทของผู้ที่ถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรมจริงหรือไม่

รอยเตอร์สรายงานว่า คดีนี้จะถูกส่งกลับไปยังศาลชั้นต้นเพื่อรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมและเบิกตัวฝ่ายโจทก์มาให้ปากคำ ตลอดจนแสดงหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี

ขณะที่เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงทนายฝ่ายโจทก์ ซึ่งระบุว่า ทหารดัตช์ก่อเหตุสังหารและซ้อมทรมานบิดาของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมที่หมู่เกาะเซาท์เซเลเบส หรือ 'สุลาเวสี' ในปัจจุบัน ทั้งยังใช้วิธีการ 'ล้างเผ่าพันธุ์' กับกลุ่มต่อต้านและชาวพื้นเมืองอื่นๆ โดยไม่มีกระบวนการสอบสวนใดๆ และช่วงที่เกิดสงครามเรียกร้องเอกราชระหว่างปี 1945-1949 มีชาวอินโดนีเซียเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุด้วยว่า กระบวนการไต่สวนและพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีนี้อาจดำเนินไปอย่างยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ดัตช์ในอดีตไม่ได้บันทึกข้อมูลหรือไต่สวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเรียกร้องเอกราช จึงอาจจะไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่าใครเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า หากกระบวนการไต่สวนดำเนินไปจนถึงขั้นที่พิสูจน์ทราบได้ว่า เจ้าหน้าที่ชาวดัตช์เป็นผู้สังหารพ่อของชาวอินโดนีเซียทั้ง 6 คนจริง พวกเขาจะได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์คนละ 5,000 ยูโร หรือประมาณ 170,000 บาท

อย่างไรก็ตาม คลาส เมเยอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า รัฐบาลจะกลับไปศึกษากฎต่างๆ อีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งอาจจะร้องต่อศาลสูงของเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง

ที่มา The guardian / Reuters