ไม่พบผลการค้นหา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน มีต้นสายมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ "ปฏิวัติ 2475" และหากต้องการทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน คงต้องย้อนกลับไปที่ 2475

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ 2475 จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจอำนาจของ 'ศาล' ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

CLIP Tonight Thailand : 1 สัปดาห์ หมุดคณะราษฎรหายไร้ร่องรอย?

(หมุดคณะราษฎร)


คณะราษฎร กับการสร้างประชาธิปไตย ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ

'ธำรงศักดิ์' เริ่มต้นเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจเมื่อมีการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 สิ่งหนึ่งที่จะกลายเป็นแนวคิดสำคัญของประชาธิปไตย ก็คือ "การที่สถาบันทางการเมืองที่สำคัญของประเทศมีการยึดโยงเข้าหากัน" สถาบันที่สำคัญของสังคมไทยในระบอบเดิมก็คือ 'สถาบันพระมหากษัตริย์' ขณะที่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็จะมีสถาบันที่ว่าด้วยตุลาการ หรือว่า 'ศาล' อยู่แล้วก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ และประมุขฝ่ายบริหาร คือเป็นรัฐบาลด้วย เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ในขณะที่สภาจะเป็นรูปแบบสภาที่ปรึกษาของพระองค์ ในนามขององคมนตรี และอภิรัฐมนตรีสภา เพราะฉะนั้นสองหน่วยงานที่สำคัญ ที่เป็นหน่วยงานของการบริหารสมัยใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือ หนึ่ง ประมุขแห่งรัฐ และประมุขฝ่ายบริหาร ซึ่งอยู่ในรูปของสถาบันเดียวกัน เพราะอำนาจในการตราตัวบทกฎหมายก็คือพระมหากษัตริย์ สอง ฝ่ายตุลาการ หรือ ศาล

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า พอเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้สร้าง 2 สถาบันทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ก็คือ 'สภาผู้แทนราษฎร' ซึ่งเป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ ขึ้นมาแทนที่อำนาจของพระมหากษัตริย์ และแยกอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่เป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหาร และประมุขแห่งรัฐออกจากกัน เหลือสถานะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (Head of State) แล้วแยกประมุขฝ่ายบริหารมาเป็นรัฐบาล

ดังนั้น จึงเกิดเป็น 3 สถาบันขึ้นมา คือ หนึ่ง ฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาล สอง ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร สาม ฝ่ายตุลาการ หรือ ศาล ดังนั้น สิ่งที่คณะราษฎรต้องการสร้างหลังการปฏิวัติก็คือการสร้างประชาธิปไตยที่จะต้องโยง สามสถาบันนี้ให้เกี่ยวสัมพันธ์ถึงกัน



คณะราษฎร siam2475-1.jpg

(คณะราษฎร ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475)


รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ศาลอยู่ภายใต้อำนาจประชาชน วิจารณ์ได้ ถอดถอนได้

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2475 (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังการปฏิวัติ 2475 ได้สร้างมาตราหนึ่งขึ้นมาที่เราอาจไม่เคยอ่านกันมาก่อน เราอาจเห็นแต่ความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจนถึงปัจจุบัน แต่เราไม่เห็นความสัมพันธ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายตุลาการเลย

รัฐธรรมนูญฉบับแรก ได้ระบุอย่างชัดเจนเลยว่าอำนาจสุงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ไปเป็นสภาผู้แทนราษฎร เพื่อ หนึ่ง ควบคุมการบริหารของรัฐบาล สอง ออกกฎหมายบังคับใช้ ให้รัฐบาลบังคับใช้ และ สาม มาตรา 9 ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมี 39 มาตรา อย่างสั้นๆ

มาตรา9 รธน.2475

มาตรา 9 ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้

ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า บทบัญญัตินี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร (กรรมการราษฎร คือ ฝ่ายบริหาร และ ประธานคณะกรรมการราษฎร คือ ผู้นำของฝ่ายบริหาร) ซึ่งพอมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 จะเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ดังนั้นฝ่ายสภาจึงมีอำนาจถอดถอนฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีสิทธิยุบสภาฯ

"นี่คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร และอีกส่วนหนึ่งที่คณะราษฎรต้องการควบคุมกิจการของประเทศก็คือ ควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายข้าราชการประจำ" ธำรงศักดิ์ กล่าว

สภาผู้แทนราษฎร พระที่นั่งอนันต.jpg

(การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม)

ใครคือข้าราชการประจำ?

ธำรงค์ศักดิ อธิบายต่อว่า ถ้าเป็นฝ่ายการเมืองก็คือคนที่เข้ามาเป็นวาระ เช่น ส.ส. เข้ามา 4 ปี อย่างนี้เรียกว่าฝ่ายการเมือง ส่วนข้าราชการประจำ คือ คนทุกคนที่กินเงินเดือนจนเกษียณอายุราชการ ถือว่าเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งในตอนนั้นพนักงานกระทรวงต่างๆ ก็คือ "พนักงานแห่งรัฐ หรือว่าข้าราชการประจำ" สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็คืออำนาจของการบริหารจัดการเป็นเรื่องของรัฐบาลพระมหากษัตริย์ แต่พอมาเป็นประชาธิปไตย แน่นอนข้าราชการประจำก็เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ดังนั้น สภาจึงมีอำนาจในการควบคุมข้าราชการประจำซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารด้วย เรียกว่าสามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงาน ปลดออก ไล่ออกได้ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานด้วย

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เวลาเรานึกถึงข้าราชการในสังคมไทย ปัจจุบันเราจะแยกข้าราชการออกเป็นหลายส่วน เช่น ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายศาล ข้าราชการครู เราจะมีเยอะมาก แต่โดยรวมพวกเขาคือข้าราชการประจำ นอกเหนือจากเจ้ากระทรวงที่จะดูแล สั่งการ บริหารข้าราชการในกระทรวงของตนเองแล้ว การออกแบบในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยังบอกว่าสภามีสิทธิที่จะควบคุมดูแลข้าราชการประจำด้วย ถ้าเราหมายความว่าข้าราชการประจำทุกกระทรวง

นั่นก็หมายความว่า ศาล ผู้พิพากษา หรือว่าตุลาการ ก็อยู่ในส่วนของข้าราชการประจำตรงนี้ด้วย

ธำรงศักดิ์ พยายามอธิบายให้เข้าใจว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรามักจะรู้สึกว่าศาลเป็นองค์กรอิสระ ไม่ควรที่จะมีใครเข้ามาแทรกแซง แม้แต่ในบางครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลเคยพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการของฝ่ายตุลาการเข้าไป ฝ่ายศาลก็ต่อต้านอย่างมากเลยบอกว่าถือว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา จารีตของศาลเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา 

"เพราะก่อนหน้า 2475 ผู้พิพากษาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพระมหากษัตริย์ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนระบอบทางการเมือง ผู้พิพากษา หรือว่าตุลาการทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน"

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้บังคับใช้เพียง 6 เดือน ต่อมามีการแก้ไขเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งได้ลบบทบัญญัติข้อนี้ออกไป

"ผมคิดว่าตอนนั้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างๆ นั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย รวมทั้งฝ่ายคณะราษฎร ตัวแทนก็คือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ผมคิดว่าคงมีการพูดคุยว่าผู้พิพากษาเป็นคนที่ตัดสินคดีความที่ยุติธรรม และไว้ใจได้ ไม่น่าจะต้องมีมาตรานี้ ซึ่งผมคิดว่านี่กลายเป็นข้อผิดพลาดอันสำคัญของประเทศไทยเลยนะครับ” ธำรงศักดิ์ กล่าว

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถึงวันนี้ เราจะเห็นว่ากระบวนการตุลาการกลายเป็นกระบวนการที่เราไม่อาจเข้าไปตรวจสอบได้เลย เราไม่อาจที่จะเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ เพราะว่าศาลจะบอกว่า "นี่เป็นการล่วงล้ำเขตอำนาจของศาล หรือว่าหมิ่นคำพิพากษาของศาล หรือว่าหมิ่นศาล"

ซึ่งพอใช้มากๆ เข้า ศาลก็เลยกลายเป็นองค์กรที่ลอยตัวอยู่เหนือความสัมพันธ์กับประชาชนทั้งมวล ผมคิดว่าความมุ่งหวังของคณะราษฎรต่อการปฏิวัติ 2475 ก็คือทำให้ศาลและผู้พิพากษานั้นถูกตรวจสอบ ถูกถอดถอน เพื่อทำให้ศาล และผู้พิพากษาทุกลำดับชั้นอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

ศาลไทยกับพลังเฉื่อยอนุรักษนิยม - จุดเปลี่ยนหลังรัฐประหาร 2490

'ธำรงศักดิ์' ยังย้อนอดีตด้วยว่า ศาลไทยถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้สมัยเหมือนตะวันตก เพราะไทยถูกบังคับเอาไว้ด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และสนธิสัญญาอื่นๆ อีก 14 ประเทศว่า หากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ศาลยังไม่พัฒนา กระบวนการพิจารณาของศาลยังไม่พัฒนาเท่าเทียมกับโลกตะวันตก ประเทศไทยก็จะมีเอกราชไม่สมบูรณ์ จะสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ก็คือคนในบังคับคู่สัญญากับประเทศไทย สามารถที่จะไปขึ้นศาลต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลไทย

ดังนั้น นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา นอกเหนือจากการสร้างกองทัพสมัยใหม่ โรงเรียนนายร้อยทหารแล้ว ก็คือการส่งเสริมการศึกษาทางด้านกฎหมาย ที่เราเรียกว่าโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม คนรุ่นนั้นจึงโตทางด้านกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่จะทำให้ประเทศได้เอกราชสมบูรณ์

"ด้วยเหตุนี้ผู้พิพากษาจึงมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตนมีหลักของความยุติธรรมอยู่ แล้วผู้พิพากษามีแนวโน้มในการมองให้ประเทศพัฒนาและก้าวหน้า แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้พิพากษาก็มีพลังเฉื่อยของอนุรักษนิยมอยู่สูง ที่จะอธิบายในเรื่องของ จารีตประเพณี วัฒนธรรม ที่จะเป็นเงื่อนไขอันสำคัญที่ศาลจะต้องพิทักษ์รักษาด้วย" ธำรงศักดิ์ กล่าว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

(พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ใน รัชกาลที่ 5 และ เจ้าจอมมารดากลับ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2440 ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในยุคหลังการปฏิวัติ 2475 ศาลก้าวหน้าทีเดียว จนกระทั่งเกิดหลังการรัฐประหารในปี 2490 ความเปลี่ยนแปลงของหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็เกิดขึ้น ด้วยการรัฐประหารในปี 2490 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ

"การรัฐประหาร 2490 เป็นเส้นแบ่งที่สำคัญคือ หนึ่ง รัฐประหารครั้งนี้ได้ทำลายประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร และทำลายคณะราษฎรลง มีประธานศาลฎีกา คือ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) ได้เข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ปี 2490"

จอมพลผิน กับพลเอกชาติชาย.JPG

(จอมพลผิน ชุณหะวัน ผู้นำรัฐประหารเมื่อปี 2490 )


'ศาล' กับ 'คณะรัฐประหาร' ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะเป็นผลพวงหลังการรัฐประหารคือ คณะรัฐประหารจะทำให้ศาลมีสถานภาพเป็น "อิสระ" ซึ่งต่อมาทำให้ความสัมพันธ์ของศาลและคณะรัฐประหารเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

"ศาลจะพัฒนาตัวเองเป็นอิสระ ไม่ถูกคณะทหารพยายามที่จะล่วงล้ำเขตอำนาจมากนัก แต่ศาลต้องยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารว่า เมื่อคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจแล้ว คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มันจึงมีประกาศของคณะรัฐประหารที่เขียนโดยเหล่าผู้พิพากษาออกมาในปี 2490 ว่าด้วยอำนาจของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร" ธำรงศักดิ์ กล่าว

อาจารย์ธำรงศักดิ์

ธำรงศักดิ์ มองว่า ศาลกลายเป็นสถาบันที่ค้ำจุนการรัฐประหารมากระทั่งถึงทุกวันนี้ เพราะเมื่อใดที่มีการรัฐประหารสำเร็จ ศาลจะบอกว่านั่น คือ 'รัฏฐาธิปัตย์' แต่ศาลจะไม่พยายามบอกว่านั่นได้เป็นกบฏ ที่ทำให้รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ได้ถูกทำลาย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าใครฉีกรัฐธรรมนูญ ใครทำลายรัฐธรรมนูญ ใครล้มรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นกบฏ แต่ศาลบอกว่าไม่ใช่ เมื่อเขายึดอำนาจได้แล้ว จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มันกลับตาลปัตร ซึ่งทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา

ถ้าดูในหน้าประวัติศาสตร์ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ด้านหนึ่งศาลรับรองอำนาจของการรัฐประหารเรื่อยมา จากปี 2490 จนถึงวันนี้ ก็เป็นรัฐประหารรวม 11 ครั้ง

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในด้านกลับกันคณะรัฐประหารที่ทำการรัฐประหารก็พยายามที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวทางด้านการแต่งตั้ง หรือการดำเนิงานของผู้พิพากษา พยายามบอกว่าศาลก็เป็นอิสระ แม้ว่าในบางครั้งฝ่ายอำนาจของคณะรัฐประหารพยายามที่จะไปยุ่งเกี่ยว อย่างเช่น แต่งตั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมการของฝ่ายตุลาการ เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา หรือว่าควบคุมดูแล ก็จะถูกต่อต้าน นี่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร 2490

หลังการรัฐประหาร 2490 จนถึงปัจจุบัน อำนาจของฝ่ายตุลาการอยู่เหนือฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งก็คือสภาฯ

แต่เมื่อไหร่ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เราจะเห็นพลังสองอำนาจนี้ อยู่ในสถานะไปด้วยกัน คือ ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ฝ่ายตุลาการ ดูเหมือนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ถ้ากลับไปยุคที่มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เราจะเห็นพลังอำนาจของฝ่ายตุลาการในการควบคุมกำกับฝั่งรัฐบาล ควบคุมกำกับฝ่ายนิติบัญญัติ

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ

(ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562)


เมื่อนายกฯ ถูกศาลปลดพ้นเก้าอี้ - สภาถ่วงดุลศาลไม่ได้

ธำรงค์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การรัฐประหาร 2490 ได้ทำลายประเพณีว่าด้วยอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่มีต่อการควบคุมข้าราชการ

เขายกกรณีในรัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในสำนักนายกรัฐมนตรี ก็คือ 'ถวิล เปลี่ยนศรี' ถ้าเรามองในแง่มุมของทางด้านการเมืองการบริหารงานของภาครัฐ การโยกย้ายข้าราชการประจำย่อมเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาล เพื่อทำให้นโยบายดำเนินงานไปตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง ดังนั้น การโยกย้ายข้าราชการระดับสูง จึงเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาล แต่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าว นำไปสู่การเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "เป็นการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม" จึงให้มีการปลดยิ่งลักษณ์ออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี และปลดรัฐมนตรีที่โหวตย้ายถวิล เปลี่ยนศรี อีกด้วย

นี่คือสิ่งที่ธำรงค์ศักดิ์ตั้งคำถามว่า แล้วอำนาจของฝ่ายบริหารจะอยู่ตรงไหน? เพราะเมื่อดูรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเป็นธรรมดา

"ทำไมถึงมีการบอกว่าการโยกย้ายอย่างนี้ไม่เป็นธรรม โยกย้ายอย่างนี้เป็นธรรม และนายกรัฐมนตรีสามารถถูกปลดเพราะโยกย้ายข้าราชประจำเพียงคนเดียว ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่โลกวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประสาสนศาสตร์ รวมทั้งนิติศาสตร์ด้วย ต้องมาศึกษากันใหม่ด้วยว่าประเทศไทยกำลังปกครองกันแบบไหน" ธำรงศักดิ์ กล่าว

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ากลับไปที่รัฐธรรมนูญฉบับแรก แนวคิดที่สำคัญก็คือ เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเลือกตัวแทนขึ้นมา คือ สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล และข้าราชการประจำได้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งข้าราชการเป็นรายบุคคลด้วย

"เพราะเมื่อไหร่ที่เราไม่สามารถมีคนทั้งฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปแตะต้องข้าราชประจำไม่ได้ เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร? มีแต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหรอที่จะโยกย้ายข้าราชการประจำได้"

ดังนั้น วาทกรรมอันหนึ่งที่ฝ่ายอำนาจนิยม ฝ่ายอนุรักษนิยม จะยกขึ้นมาใช้ในช่วงที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คือ "นักการเมืองรังแกข้าราชการประจำ"

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเราคิดกันดีๆ ตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าไม่ใช่นักการเมืองรังแกข้าราชการประจำ แต่เราจะเห็น "ข้าราชการประจำต่างหากรังแกนักการเมือง" เมื่อมีการรัฐประหาร ข้าราชการประจำก็ไล่ใช้กฎหมายย้อนหลังกับนักการเมือง ยึดทรัพย์เขา แต่นักการเมืองจะทำอะไรก็จะถูกบอกว่าทำไม่ได้

ผลคดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ชี้คนไทยอาจอยู่กับคณาธิปไตยอีกยาว : FULL EP

(น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารับฟังการไต่สวนคดีจำนำข้าว )

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยช่วงหลังใช้กฎหมายย้อนหลังเยอะมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว หลักการมันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ใช้ได้จริงหรือเปล่าเป็นคำถามใหญ่เลย นี่คือประเด็นสัมพันธภาพทางอำนาจ ของการเชื่อมต่อระหว่างสามสถาบัน

"เรามักจะเรียนกันว่าสามสถาบันอันนี้จะต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ่วงดุลกัน ปรากฏว่าฝ่ายสภาฯ ตอนนี้ถ่วงดุลฝ่ายตุลาการไม่ได้เลย แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายตุลาการกลายเป็นผู้ที่มีดุลและจะตัดสินว่า ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผิด ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งผิด แต่เราจะไม่ค่อยเห็นฝ่ายตุลาการตัดสินว่าฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารผิด หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารกระทำผิด" ธำรงศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ธำรงศักดิ์ ยังมองว่า ฝ่ายตุลาการมีความก้าวหน้าสูงมากในกรณีของการพิพากษา หรือว่าการดำเนินงานทางด้านคดีแพ่ง คดีอาญาทั่วไป แต่เมื่อไหร่เป็นคดีทางการเมือง ทำให้ถูกตั้งคำถามใหญ่จากสังคมว่า คดีทางการเมืองในกระบวนการยุติธรรมจะมีความยุติธรรมมากน้อยเพียงใด

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

(ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน 2551 - 2562)


เมื่อ 'ศาล' ไม่สามารถวิจารณ์ได้ เท่ากับมี 'อำนาจสมบูรณ์'

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ถึงตอนนี้หากเราต้องการสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศ จุดเริ่มต้นก็คือ เมื่อคำพิพากษาศาลออกมาแล้ว ย่อมสามารถที่จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบได้ เพราะหากไม่สามารถตรวจสอบได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำพิพากษานั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนไม่มีสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง

ในขณะเดียวกัน บทบาทของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องเป็นบทบาทที่ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้พิพากษาได้ ทั้งการดำเนินงานในกระบวนการ และคำพิพากษา กล่าวคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ หมายความว่านี่คืออำนาจสมบูรณ์ (Absolute)

หากตุลาการไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็เท่ากับว่าตุลาการกำลังทำให้ตนเองมีอำนาจสมบูรณ์ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ระบอบประชาธิปไตยจะต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้บนพื้นฐานที่เราเรียกว่าความโปร่งใส (Transparency) แต่ถ้าคำพิพากษาออกมาแล้วบอกว่าห้ามแตะต้อง ก็เท่ากับว่า "มันมืดแล้ว มันไม่โปร่งใส" หลักประชาธิปไตย จึงมาพร้อมกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐาน คือ หนึ่ง ตรวจสอบได้ สอง สามารถที่จะเอาข้อมูลมาดูกันได้ และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ได้

ให้กำลังใจโกวิท-ชลิตา บัณฑุวงศ์

(ประชาชนให้กำลังใจ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ กรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญเชิญไปพบหลังจากโพสต์ข้อความวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญในทวิตเตอร์ส่วนตัว )

"ถ้าหน่วยงานใดไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ในสถาบันที่สำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ก็ไม่มีหลักธรรมาภิบาล หลักวิชานี้ก็อาจจะต้องเป็นวิชาแรกที่จะต้องถูกโยนทิ้ง ถูกทำลายไป จากการที่ระบอบทางการเมืองไม่มีหลักธรรมาภิบาล" ธำรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง