ให้หลังเพียงวันเดียว เมืื่อกองทัพบกโพสต์เพลงใหม่พร้อมมิวสิกวิดีโอ เชิญชวนสมัครสมาชิกกองทัพบก เนื้อเพลงตอกย้ำภาพลักษณ์กองทัพว่่า "เข้ามาแล้วจะเจอแต่สิ่งดีๆ" วันที่ 2 ธ.ค. 2565 ผ่่านยูทูบช่องกรมกิจการพลเรือนทหารบก วันต่อมาก็เกิดกรณีนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และ 2 ในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 23 ราย มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบอย่างรุนแรงและ 8 ราย มีอาการไตวายเฉียบพลันและต้องได้รับการฟอกไต โดยแพทย์ระบุเป็นภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
วอยซ์ รวบรวมมุมมองข้อเสนอต่อกรณีดังกล่าว ได้แก่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่่, รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล และ กัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม
อาจารย์สมชาย มองประเด็นนี้ว่า ผมเคยสอบถามนักศึกษาที่รู้จักมักคุ้นว่าทำไมถึงต้องไปเรียน รด. คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้ต่างไปจากความคาดหมายเท่าไหร่ มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ให้คำตอบว่าเพราะไม่อยากไปเป็นทหารเกณฑ์ แทบหาไม่ได้ที่อยากเรียน รด. เพราะอยากฝึกวิชาทหาร อยากเตรียมพร้อมในการปกป้องประเทศชาติ
ไม่ต้องอธิบายหรอกว่าในความเข้าใจของคนโดยทั่วไปแล้วการเป็นทหารเกณฑ์นั้นมีประโยชน์แก่ชีวิตของปัจเจกบุคคลเยี่ยงไร ในอดีต พ่อแม่จำนวนมากก็ใช้วิธีใต้ดินเพื่อให้รอดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ แต่วิธีการใต้ดินอาจยุ่งยากในห้วงเวลาปัจจุบัน รด. ไม่ได้จึงมีความหมายอะไรมากไปกว่าการเป็นช่องทางให้ลูกหลานชนชั้นกลางสามารถหลบเลี่ยงการเป็นทหารเกณฑ์
ที่กล่าวว่าการเรียน รด. เป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดไว้ให้สำหรับชนชั้นกลาง เพราะต้องเป็นคนที่เรียนได้ต้องอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ข้อมูลชี้ชัดว่าสำหรับคนจนมีเป็นจำนวนน้อยที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ดังนั้น ที่ผ่านมาท่าทีการปฏิบัติต่อนักศึกษา รด. จึงไม่ได้หนักหนามากเท่าไหร่ เพราะต่างก็รู้ดีว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้น เสียงของชนชั้นกลางนั้นสามารถดังไม่น้อย
กรณีที่จังหวัดนราธิวาส จะเป็นตัวอย่างให้การปฏิบัติต่อ รด. ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาใจกลางของเรื่องนี้คือการบังคับเกณฑ์ทหารที่ควรต้องถูกทบทวนอย่างจริงจัง ทำอย่างไรไม่ให้การเกณฑ์ทหารเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง และเป็นการตรึงคนอีกกลุ่มหนึ่งให้ต้องตกอยู่ในฐานะของการถูกกดขี่ขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม
รอมฎอน ตั้งประเด็นว่่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสอบในเรื่องนี้ที่ตั้งโดยแม่ทัพภาค 4 จะทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา? เพื่อแสวงหาผู้รับผิดชอบและเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก กลไกตรวจสอบภายในกองทัพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่หลายเหตุการณ์ในอดีตพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราจะคาดหวังอะไรได้มากน้อยเพียงใด เพื่อทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ ความพร้อมรับผิดรับชอบ และความชอบธรรมในทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกของฝ่ายพลเรือนขึ้นมาควบคุมกองทัพ โดยเฉพาะกลไกที่ยึดโยงหรือมีที่มาที่ไปซึ่งเชื่อมโยงกับความเป็นตัวแทนของประชาชน หาไม่แล้ว ความเชื่อมั่นต่อสถาบันทางสังคมที่ต้องรักษาเอาไว้แห่งนี้จะเสื่อมคลายและสั่นคลอนไปมากกว่านี้
นี่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศนี้ต้องมีผู้ตรวจการกองทัพ ทั้งหมดนี้ จำต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กับการลดละเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยม-นิยมทหารที่ฝังรากลึกลับอยู่ในสังคมไทยด้วยมาตรการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเปิดให้มีการรับสมัครทหารตามความสมัครใจที่ทำไปพร้อมกับการยกเลิกเกณฑ์ทหาร โดยที่การปรับเปลี่ยนที่ว่านี้จะลดเหตุผลและเงื่อนไขของการเรียน รด.ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
เด็ก ๆ ของเราจะไม่ต้องเสี่ยงเจ็บตัวกับการฝึกทหารเช่นนี้ เราจะยืดอกได้อย่างภาคภูมิว่าประเทศแห่งนี้เคารพสิทธิมนุษยชนและความเป็นคน ทรัพยากรที่มีค่าของเราจะเติบโตและเปล่งพลังได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตวัยหนุ่มไปกับการเป็นทาสใคร
ด้านกัณวีร์ เสนอรูปธรรมว่า หนึ่ง เลิกเถอะครับกฎหมายการเกณฑ์ทหาร ทราบดีครับว่ายังมีประเทศกว่า 20 ประเทศที่ยังคงกฎหมายนี้ในรัฐธรรมนูญ หากแต่เราควรดูบริบทของไทยว่ามันจำเป็นมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่งคง รบน้อยมากๆ
สอง การเรียนรักษาดินแดน หรือ รด. นี่จริงๆ เป็นผลพวงจากความไม่ประสงค์ของเด็กและผู้ปกครองที่จะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 21 ปี บริบูรณ์
สาม หากประเทศไทยต้องการสร้างและผลิตกำลังสำรองตามคอนเซ็ปท์ “citizen soldier” แล้วนั้น ควรให้เป็นไปแบบ “ด้วยความสมัครใจ” อย่างแท้จริง แล้วคุณจะได้คนมีคุณภาพเพื่อพัฒนากองทัพต่อไป ผมเชื่อนะว่ายังมีคนที่อยากเรียนเรื่องการทหารอยู่ กลุ่มนี้แหละครับที่ทางประเทศสามารถนำมาพัฒนาเป็นกำลังพลที่มีความสามารถต่อไปได้ ไม่ใช่เด็กชายไทยทุกคน!!
สี่ รด. ที่มีอยู่เริ่มต้นตั้งแต่เด็กชายอายุ 15 ปี และไม่สมัครใจโดยส่วนใหญ่ จริงๆ ก็เข้าคอนเซ็ปท์ทหารเด็กนะหากถูกตีความจริงๆ “การสู้รบโดยตรง” ก็ยังเป็นประเด็นถกแถลงกันอยู่ และอีกอย่าง ทุกคนไม่ได้สมัครใจเรียน รด. แต่กลัวและเกรงว่าจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในอนาคต
เอาง่ายๆ ครับ อย่าบังคับคนโดยกฎหมายที่จะมีผลต่อเด็กในอนาคตหากไม่เรียน รด. มันคือการบังคับนั่นเอง และสร้างความกลัวให้ทั้งผู้ปกครองและเด็ก ผมทราบว่า “การเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด” แต่หากต้องการกำลังพลที่มีคุณภาพที่จะเข้ามาพัฒนาสถาบัน ต้องเริ่มจากความปราถนาส่วนบุคคลและด้วยความสมัครใจ กลุ่มนี้จะเป็นเป้าหมายหลักที่สถาบันทหารควรนำมาพัฒนาให้กองทัพมีขีดความสามารถมากขึ้น
การเรียนทหารของรักษาดินแดน ควรใช้คอนเซ็ปท์ “citizen soldier” ในการฝึกฝนบุคคลให้มีศักยภาพทางทหารเมื่อประเทศของตนต้องการ และคนที่ถูกฝึกนั้นสามารถใช้ศักยภาพที่ถูกพัฒนามาเพื่อเติมเต็มหน้าที่ของพลเมืองอย่างมีคุณภาพในเวลาปกติ และการเข้าไปฝึกนั้น ควรต้องไม่ใช่เด็กและต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐฯ เค้ามีการเรียน ROTC ในมหาวิทยาลัย (เหมือน รด. นั่นแหละ แต่แยกเหล่าที่สนใจและเข้มข้นกว่า) และให้นักศึกษาผู้สนใจวิชาการทางทหารเข้ารับการอบรมและฝึกฝนด้วยความสมัครใจ และระหว่างรับการอบรมและฝึกนั้น นักศึกษาสามารถได้รับทุนจากกองทัพเพื่อช่วยให้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้เสียอีกด้วย
ทำไมไทยเราไม่พิจารณาและทำเฉกเช่นนี้ หากทำแล้ว 1) จะไม่ถูกครหาเรื่องการใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหารมาบังคับให้คนเรียน รด. 2) ลบข้อครหาและความเสี่ยงถูกกล่าวหาเรื่องทหารเด็ก 3) ผู้ที่จะเข้าเรียนวิชาทหารในมหาวิทยาลัย จะไม่ใช่เด็กแล้ว 4) คนมารับการฝึกอบรมจะมาด้วยความสมัครใจ 5) ลดภาระการใช้ภาษีหลายร้อยล้านบาทจากการนำมาใช้เรื่องการอบรม รด. ปี 1 - 3 ทั่วประเทศ 6) นำภาษีที่จะต้องใช้จ่ายในข้อ 5 มาทำเป็นทุนให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่สมัครใจเรียน อย่าง ROTC เพื่อช่วยให้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา และวิชาทหารที่สมัครใจเรียนไปพร้อมกัน และ 7) กองทัพจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพในหลายๆ สาขาวิชาในระดับอุดมศึกษามาพัฒนากองทัพอย่างมากมาย