ไม่พบผลการค้นหา
คำอธิบายจากนักจิตวิทยา ต่อคำถามว่า "ทำไมคนเราถึงต้องสร้างเฟซบุ๊กปลอมตามชื่อคนร้าย"

สถานการณ์ความรุนแรง ฉุกเฉิน หรือเป็นคดีทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง มักปรากฎพฤติกรรม “การสร้างตัวตนปลอม” ตามชื่อ-นามสกุลของคนร้าย เพื่อโพสต์ภาพและเขียนข้อความต่างๆ จนเกิดความสับสนครั้งแล้วครั้งเล่า 

อธิชาติ โรจนหัสดิน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า พฤติกรรมดังกล่าวมีที่มาจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ 1. อยากมีตัวตน 2.คาดหวังผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจ 


อยากมีตัวตน 

อ.อธิชาติ บอกว่า การตั้งชื่อบัญชี (Account) ตามคนดังนั้นเรียกร้องความสนใจจากผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียได้อย่างแน่นอน ขณะที่การเคลื่อนไหวที่สร้างผลกระทบนั้นทำให้รู้สึกมีพลัง เป็นแรงจูงใจในลักษณะเดียวกับ การเปลี่ยนตัวเองจาก ‘คนไร้ตัวตน’ สู่การเป็น ‘คนสำคัญ’ ซึ่งโดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ต้องการให้ผู้คนยอมรับอยู่แล้ว 

“โพสต์ล่อเป้าให้คนมาด่าก็ยังรู้สึกดีกว่าการไม่มีใครเลย ยังมีปฏิสัมพันธ์ เรายังเป็นคนอยู่ ไม่ใช่แค่อากาศ” 

อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา ระบุว่า ผู้คนในยุคสมัยนี้มีอาการเบื่อหน่ายง่าย มักรู้สึกว่าชีวิตไม่มีสีสัน ไร้ความหวือหวา มีผลให้บางคนพยายามเรียกร้องหาความสนุกตื่นเต้น ระทึกใจมารองรับหรือปลดปล่อย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบและความรับผิดชอบ 

“Just For Fun แค่สนุกๆ ขำๆ มันต้องคู่กับความรับผิดชอบด้วย” เขาบอกต่อ “ปล่อยข่าวผิดๆ จนตำรวจต้องลนลานไปตาม ปั่นหัวคนได้มันก็ฟินอีกอย่าง สำหรับบางคน”

อ.อธิชาติ กล่าวว่า พฤติกรรมแง่ลบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดในสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุหรือไม่รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งบางท่านเห็นว่าการได้นำข้อมูลบางประเภทไปบอกเล่าก่อนใคร ทำให้ตัวเองดูฉลาดหรือเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวเร็ว 

“ผู้ตกเป็นเหยื่อจะนำเฟกนิวส์ที่ได้รับไปพูดต่อจนกลายเป็นความเสียหายหรือเข้าใจผิด” 

เศร้า

หวังผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจ

การสร้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กตามคนร้ายหรือคนดัง เพื่อโพสต์เรียกยอดไลก์และผู้ติดตาม ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคทางการค้า 

โดยเมื่อเริ่มมีคนติดตามจำนวนมาก สถานการณ์เงียบลง ผู้สร้างก็จะลบโพสต์เก่าๆ ทิ้ง และเปลี่ยนชื่อบัญชี นำไปสู่การค้าขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงอาจนำแฟนเพจไปขายต่อ เรียกราคาสูงต่ำตามจำนวนผู้ติดตาม 


คนแบบไหนเสี่ยงตาย

บุคคลที่มีแนวโน้ม ‘ฆ่าตัวตาย’ หรือ ‘ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น’ อ.อธิชาติ แนะนำว่า สังคมในฐานะคนใกล้ชิดหรือผู้พบเห็นอาจสังเกตเบื้องต้นได้ดังนี้ 

  • กลุ่มฆ่าตัวตาย 

1.แจ้งเบาะแส สิ้นหวัง-ต้องการความรัก 

แจ้งเบาะแสและแสดงออกถึงความสิ้นหวังผ่านสังคมออนไลน์ เช่น ข้อความว่า ฉันจะกรีดแล้วนะ, ช่วยด้วย อยู่ไหนก็ไม่รู้ พูดง่ายๆ ว่าอยากให้คนไปตามหา ต้องการความรักและคนดูแล โดยคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้ต้องการตายจริงๆ เพียงแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ยามรู้สึกเหงา ทำให้อาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

2.สั่งเสีย Death Note

แสดงออกลักษณะสั่งเสีย เช่น ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดู , ขอพระองค์มารับข้าไปด้วย กลุ่มนี้ถือว่ามีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงกว่าประเภทแรก 

นักจิตวิทยารายนี้บอกว่า กลุ่มที่แสดงออกในเชิงโกรธเกรี้ยว เช่น ด่าทอสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ มักไม่ฆ่าตัวตายจริง 

“ความโกรธไม่ค่อยนำไปสู่การตาย ส่วนใหญ่เป็นความเศร้าซะมากกว่า” เขากล่าว  

  • กลุ่มใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น 

อ.อธิชาติ บอกว่า คนกลุ่มนี้มักมีความคิดเป็นอันธพาล เกะกะระราน เห็นคุณค่าของผู้อื่นด้อยกว่าตัวเอง มักคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ โดยข้อความที่แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น “คนเวรพวกนี้น่าจะตายเสียให้หมด” 

สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะกราดยิงผู้อื่นในที่สาธารณะ ผู้กระทำอาจมีปัญหาใน 2 ลักษณะ คือ 1. มีอาการจิตเภทเป็นโรคหลงผิด หวาดระแวงผู้อื่น เกรงจะถูกทำร้าย และ 2. ถูกทำร้ายจิตใจ เจ็บช้ำอย่างรุนแรงจนกระทั่งระเบิดออกมา ลุกลามบานปลาย 

อย่างไรก็ตาม ‘คนที่ตัดสินใจฆ่าผู้อื่น’ มีปัจจัยและรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละเคส