พรรคก้าวไกล เปิดวงสนทนาออนไลน์ ‘ฟื้นเศรษฐกิจด้วยนโยบาย SMEs’ นำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กรุณพล เทียนสุวรรณ ,อนันต์ ชัยสุริยเทพกุล และ จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตยานนาวา บางคอแหลม พรรคก้าวไกล
จรยุทธ กล่าวถึงประเด็นที่ได้จากวงเสวนาครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ตนเป็น SMEs ต้องบอกว่า โควิด-19 ทำให้เห็นปัญหาที่หนักมากของคนทำธุรกิจ เริ่มจากลูกค้าและยอดขายหาย ขณะที่เงินทุนยังต้องใช้ต่อไม่หยุดตาม เชื่อว่าสำหรับ SMEs ทั้งประเทศคงไม่ต่างกันในจุดนี้ คือการที่ไม่สามารถหาแหล่งทุนที่มีคุณภาพมาสนับสนุนภาพคล่องท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าค่าเช่า ค่าแรง ค่าของ หรืออื่นๆที่ยังต้องจ่าย แต่เมื่อรายได้ลดลงความลำบากก็มากขึ้นตาม
"เรื่องนี้เป็นกับดักของหนี้สิน แทนที่รัฐจะหาแหล่งเงินทุนที่มีคุณภาพ ไม่มาไล่ล่าทำร้ายเรา เพื่อช่วยประคองให้ธุรกิจยังเดินต่อได้ แต่กลับกำหนดเงื่อนไขที่ยากในการเข้าถึง ประเด็นคือ เมื่อขาดสภาพคล่อง ทุกคนต้องการกู้เงินในะบบก่อนอยู่แล้วเนื่องจากดอกเบี้ยต่างกัน ถามว่ามีเงินสำหรับส่วนนี้ที่รัฐเตรียมไว้ไหม ในทางนโยบายบอกว่าจะมีเงินกู้ให้ แต่ในทางปฏิบัติคือเก็บไว้เฉยๆในธนาคารหรือเอาไปปล่อยให้คนที่ไม่ต้องการแทน คือไปปล่อยให้ธุรกิจที่ไปได้อยู่แล้ว ขนาดเขาไม่ได้ขอก็ไปเสนอเงินกู้ให้ แต่ธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินในขณะนั้นจริง เขาไม่ปล่อยลงมาจึงเป็นเรื่องที่ลักลั่นมากและไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของ SMEs จำนวนมากดีขึ้นเลย”
จรยุทธ กล่าวต่อว่า อีกประสบการณ์หนึ่งที่ SMEs มักเจอ คือทำธุรกิจแล้วถูกดึงการจ่ายเงินจากลูกค้ารายใหญ่ อย่างธุรกิจของตัวเองเคยถูกดึงเช็คไว้ 60 วัน แต่บางคนก็มากกว่านั้น ลองนึกภาพตามว่าเราเป็นธุรกิจตัวเล็ก เข้าถึงแหล่งทุนยากอยู่แล้ว แต่ต้องมายังถูกดึงเช็คไว้อีกจากเจ้าใหญ่อีก เราก็เหมือนต้องกรีดเลือดตัวเองมาเลี้ยงธุรกิจเราไว้ก่อน เพราะถ้าไม่อัดเงินลงไปเองก็จะมีปัญหาต่อเนื่องกระทบไปเป็นทอดๆ ความจริงตรงนี้ทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเคยมีคำสั่งออกมาว่า ห้ามดึงเวลาจ่ายเช็คเกิน 45 วัน แต่ปัญหาคือรายย่อยจะไม่มีทางไปฟ้องเพื่อทวงว่ารายใหญ่ต้องทำตามกฎหมายแน่ เพราะถ้าทำเองก็คงเสี่ยงต่อการเสียลูกค้ารายนั้นไป ต่อให้ต้องรอ 90 วัน หรือนานกว่านั้นก็ต้องรอ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อให้ SMEs มีเงินหมุนเวียนเข้ามาเร็วขึ้น
“สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายของเรา คือต้องสามารถทำให้ SMEs มีแต้มต่อมากขึ้นได้ เพราะอยู่ดีๆเอาคนตัวเล็กไปชกกับคนตัวใหญ่แล้วบอกว่าแฟร์มันไม่ใช่ แต้มต่ออาจทำได้หลายแบบ เช่น มาตรการทางภาษี หรืออีกทางหนึ่งที่เราเสนอคือการช่วยโปรโมตให้รายเล็กมากขึ้น ตรงนี้เรามีนโยบายอย่าง หวย SMEs เช่น โชว์ห่วย ถ้ามองจากพื้นฐานว่าทุกคนต้องซื้อของอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่อาจเลือกเดินไปร้านสะดวกซื้อก่อน หากมีโครงการนี้เข้ามาเพิ่มแรงจูงใจ โชว์ห่วยในชุมชนก็อาจมีลูกค้าใหม่ๆลองเดินมาซื้อของที่โชว์ห่วย หรือ SMEs ต่างๆที่ร่วมโครงการนี้เพื่อลุ้นรับรางวัล และตรงนี้จะเป็นการจูงใจให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าสู่ระบบด้วย เราคิดไว้ว่าการซื้อของอาจทำผ่านแอปเป๋าตังค์ ร้านไหนร่วมโครงการหวย SMEs ซื้อของแล้วจะได้ใบเสร็จออนไลน์ เนื่องจากเข้าระบบแล้ว จากนั้นคนที่อยากลุ้นก็เปลี่ยนจากใบเสร็จเป็นสลาก แล้วรอว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ คราวนี้ก็จะมีแต้มต่อที่รายใหญ่ไม่มี แต้มต่อนี้แม้จะเล็กๆน้อย แต่ก็จะช่วยให้เขาสามารถขยับขึ้นไปมีส่วนแบ่งในตลาดได้ หรือเหมือนเป็นการช่วยโฆษณาให้คนเปิดใจมาทดลองซื้อกับร้านรายเล็กมากขึ้น”
นอกจากนี้ จรยุทธ ยังกล่าวถึง แต้มต่อที่สามารถทำได้อีกจากการซื้อขายระหว่างรายใหญ่ กับ SMEs ด้วยการลดหย่อนภาษี เช่น รายใหญ่ซื้อของหนึ่งแสนบาท แต่เวลาคำนวนค่าใช้จ่ายทางภาษีหากซื้อกับ SMEs จะคิดเป็น 1.5-2 เท่า คือเท่ากับซื้อของหนึ่งแสนห้าหรือสองแสนบาท เพื่อให้ได้รับการลดหย่อน แนวทางนี้ก็จะทำให้รายใหญ่ต้องการที่จะมาใช้บริการหรือซื้อสินค้าจาก SMEs เพราะสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น
สำหรับ วิโรจน์ กล่าวว่า เหตุผลที่เปิดวงสนทนาเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากดูจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ ขณะนี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว สภาพหนทางยังมืดมนเหมือนเดินไปเจอป่าช้าหรือป่าละเมาะ จึงต้องทบทวนหาทางแก้ไข ส่วนสาเหตุที่จำเป็นต้องพูดถึง SMEs เนื่องจากมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะหากดูจากตัวเลขการจ้างงาน พบว่ามีมากถึงเกือบ 13 ล้านคน มีจำนวนทั้งหมด 3.1 ล้านราย คิดเป็นการจ้างงานร้อยละ 72 ของการจ้างงานทั้งประเทศ คำถามคือเมื่อเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากขนาดนี้ จะหาแนวทางสร้างความเข้มแข็งหรือเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร