ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนเฝ้าจับตานักเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด ก่อนจะถึงวันครบรอบ 30 ปีการสังหารหมู่เทียนอันเหมิน โดยนักวิจารณ์รัฐบาลจีนระบุว่า รัฐควบคุมประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนหลายคนถูกตำรวจเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงก่อนจะถึงวันครบรอบ 30 ปีการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (4 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุรุนแรงที่รัฐบาลจีนเป็นผู้กระทำและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก โดยมีการสันนิษฐานว่าอาจมีนักศึกษา แรงงานและผู้ประท้วงอื่นๆ เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 3,000 ราย ขณะที่ทางการอังกฤษเคยประเมินไว้ว่าตัวเลขอาจสูงถึง 10,000 ราย

หูเจีย หนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ เคยถูกขังอยู่ในบ้านของตัวเองเป็นเวลาหลายปี หลังจากพยายามจะจัดงานรำลึกวันครบรอบการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หลังจากนั้น ช่วงปลายเดือนพ.ค.ของทุกปี เขาจะออกเดินทางจากบ้านในกรุงปักกิ่งไปพักผ่อนที่เมืองฉินหวงเต่า โดยมีตำรวจคอยติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง และเขาจะเดินทางกลับกรุงปักกิ่งหลังวันที่ 4 มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม หูเจีย ยังหวังว่าจีนจะมีประชาธิปไตยก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เพราะเขาไม่เชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแข็งแกร่งเหมือนกับเหล็ก “ผมไม่เคยสูญเสียศรัทธา ผมไม่คิดว่าอำนาจชั่วร้ายจะคงอยู่ตลอดไป”

หูเจีย เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนที่ถูกติดตามดูพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดในช่วงก่อนถึงวันครบรอบการสังหารหมู่เทียนอันเหมิน ทุกปี รัฐบาลจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภารกิจ “รักษาเสถียรภาพ” ด้วยการติดตามนักเคลื่อนไหว คนที่มักวิจารณ์รัฐบาลจีน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ครั้งนั้น โดยพวกเขาจะต้อง “ไปเที่ยว” นอกกรุงปักกิ่ง หรือถูกขังในบ้านของตัวเอง คำหรือภาพเกี่ยวกับการประท้วงและการปราบปรามผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในโซเชียลมีเดียก็จะถูกเซนเซอร์ บางปีมีการเซนเซอร์คำว่า “วันนี้” ด้วย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปฏิบัติการ “รักษาเสถียรภาพ” ปีนี้จะยาวนานขึ้นกว่าปีอื่นๆ เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 30 ปี โดยเกาหยู ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 1989 กล่าวว่า ปีนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมติดตามเธอเข้มงวดกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอถูกขังในบ้านของตัวเองเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. วันครบรอบการเสียชีวิตของ เจ้าจื่อหยาง อดีตนายกรัฐมนตรีนักปฏิรูปที่สนับสนุนให้จีนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และคัดค้านการส่งรถถังไปปราบปรามผู้ประท้วงในกรุงปักกิ่ง และเกาหยูคาดว่าเธอจะต้อง “ไปเที่ยว” ในสัปดาห์หน้า แล้วค่อยกลับกรุงปักกิ่งได้ประมาณ 1 สัปดาห์หลังวันที่ 4 มิ.ย.

จางเสียนลิ่ง ผู้สูญเสียลูกชายจากการปราบปรามการประท้วงครั้งนั้น ระบุว่า ตำรวจมาประจำการนอกบ้านของเธอตั้งแต่วันครบรอบการเสียชีวิตของเจ้าจื่อหยางเช่นกัน และยังเข้าไปเยี่ยมเธอในวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่าน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 100 ปีการประท้วงของนักศึกษานับพันคน ซึ่งไม่พอใจบทบาทของรัฐบาลในการต่อรองข้อตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซาย อย่างไรก็ตาม จางเสียนลิ่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีงานให้ทำมากแล้ว ปัจจุบันคนที่จะพูดถึงวันครบรอบการสังหารหมู่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเหลือไม่มากแล้ว

ขณะที่จางและเกากล่าวว่า พวกเธอถูกดักฟังโทรศัพท์มานานแล้วด้วย จีนยังวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสอดส่องประชาชนไว้อย่างแน่นหนา ตั้งแต่การใช้ปัญญาประดิษฐ์จดจำใบหน้าพลเมือง กล้องวงจรปิด การบังคับให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนจริงในการสมัครโซเชียลมีเดีย ซื้อตั๋วเดินทางหรือจองโรงแรม

ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนพยายามปราบปรามการเรียกร้องของภาคประชาสังคมทั้งหมด ตั้งแต่ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนไปจนถึงนักศึกษาที่พยายามล็อบบี้เรื่องสิทธิแรงงาน นักวิจัยชาวจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวว่า 30 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน สิทธิมนุษยชนในจีนยุคปัจจุบันอยู่ในระดับที่เลวร้ายที่สุด และการเคลื่อนไหวรากหญ้าก็อยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดด้วย

ฟรานเซส อีฟ รองผู้อำนวยฝ่ายวิจัยขององค์กร “นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจีน” กล่าวว่า ปัจจุบัน การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในจีนไม่เหมือนกับนักศึกษาในปี 1989 ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ไม่สูงมากเกินไป เช่น การศึกษาที่เท่าเทียม ประปกป้องสิทธิแรงงาน สิทธิในการมีที่อยู่อาศัย หรือแค่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของจีน “นักเคลื่อนไหวจำนวนมากไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอะไรด้วยซ้ำ รัฐบาลจีนก็ยังปฏิบัติกับนักเคลื่อนไหวราวกับศัตรูของชาติ”

ปีนี้ ศาลเพิ่งตัดสินจำคุก 4 คนที่ผลิตเหล้าที่มีฉลากมีวันที่ 4 พ.ค. 1989 ที่รัฐบาลปราบปรามผู้ประท้วงที่เทียนอันเหมิน หลังจากควบคุมพวกเขาก่อนจะพิจารณาคดีนานถึง 3 ปี ซึ่ง หูเจีย แสดงความเห็นว่า รัฐบาลจีนสร้างเงื่อนไขไว้ว่า หากใครกล้าพูดเรื่องนี้ขึ้นมา พวกเขาจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก และทางการจีนได้ปูทางไว้เพื่อปีนี้โดยเฉพาะ เพราะพวกเขารู้ว่าวันครบรอบ 30 ปีสังหารหมู่ ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมีความหมายกับประชาชนจำนวนมาก

แม้รัฐบาลจีนจะพยายามลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ 4 มิ.ย. แต่ก็ยังถือเป็นภารกิจที่ยากลำบาก โดยปีนี้ มีการวางแผนจะจัดงานรำลึกการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ยังคงมีเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้จื้อเฉียง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยถูกควบคุมตัวจากความพยายามจัดงานรำลึกครบรอบ 25 ปีการประท้วงที่เทียนอันเหมิน กล่าวว่า “วันที่ 4 มิ.ย.จะยังคงอยู่ ไม่ว่าจะสำหรับประชาชนหรือรัฐบาล หลายคนยังคงไม่ลืม”