ไม่พบผลการค้นหา
รัฐไทยมีเหยื่อค้ามนุษย์ เกือบ 1,000 คนในปี 2559-2560 ค้าประเวณียังสูงกว่าประเภทอื่น ขณะที่ ภาคตะวันออกเสี่ยงเป็นทางผ่านส่งต่อแรงงานข้ามชาติไปพื้นที่อื่น นำสู่การค้ามนุษย์

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และปัญหาด้านนโยบาย กฎหมายในประเทศไทย ประจำปี 2559-2560 โดยในภาคเหนือของไทย พื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่และ จ.พิษณุโลก อัตราส่วนผู้เสียหายจากการค้าประเวณียังคงสูงกว่าการค้ามนุษย์ประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดิมของการประเมิณก่อน ปี 2559 เช่นเดียวกับในภาคอีสาน พื้นที่จ.นครราชสีมา จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย พบเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีค้าประเวณี และยังไม่พบผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ถูกบังคับใช้แรงงานแต่อย่างใด

ส่วนภาคตะวันออก ที่ จ.สระแก้วและจ.ชลบุรี พบการค้ามนุษย์น้อยมาก แต่การค้าประเวณียังสูงกว่าประเภทอื่นๆ เช่นกัน และยังพบการบังคับใช้แรงงานใน จ.ชลบุรี ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการส่งต่อแรงงานข้ามชาติสู่พื้นที่ชั้นในและอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่ปลายทาง โดยเฉพาะใน กทม.,จ.สมุทรสาคร หรือบางจังหวัดในภาคใต้ อย่าง ระนองและ จ.สงขลา 

"ปัจจุบันพบว่า มีเด็กซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติบางส่วน ติดตามผู้ปกครองเข้ามาในพื้นที่ จ.สระแก้ว ใช้วิธีเดินเร่ขอเงินจากนักท่องเที่ยว"

ขณะที่ภาคใต้ จ.ระนองและ จ.สงขลา พบการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีอัตราสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ และยังเป็นต้นทางให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างเรือประมงเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ สาเหตุหนึ่งจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์ซึ่งมีชายแดนติดกับไทยหลายร้อยกิโลเมตร และยังกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานอีกด้วย

"ปัจจุบันการบังคับใช้แรงงาน เปลี่ยนรูปแบบเป็น "การทำงานใช้หนี้" ด้วยเงื่อนไขการจ้างงานที่นายจ้างระบุว่า ต้องต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนลูกจ้างทุกอย่างและหักเงินส่วนดังกล่าวออกจากค่าแรง หลายกรณีหักเงินจ่ายค่านายหน้า"

ภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ ปทุมธานีและนนทบุรี มีแรงงานที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หลายกลุ่ม เนื่องจากพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของสถานคุ้มครองผู้เสียหาย บางส่วนเหยื่อค้ามนุษย์โดยเฉพาะในกิจการประมง ถูกส่งตัวมาเข้ารับการคุ้มครองหรือรอส่งกลับประเทศต้นทาง

จำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 824 คน เป็นชาย 411 คน หญิง 413 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยถึง 333 คน,เมียนมาร์ 238 คน,ลาว 58 คน,กัมพูชา 52 คน,เวียนาม 127 คน,ฟิลิปปินส์ 4 คน,ศรีลังกาและอุซเบกิสถาน ประเทศละ 1 คน,และไม่ทราบสัญชาติอีก 10 คน

แบ่งเป็นจำนวน 561 คนประสงค์เข้ารับการคุ้มครอง แบ่งเป็นชาย 290 คน หญิง 271 คน เป็นคนไทย 207 คน รองลงมาคือเมียนมาร์ 175 คน

จากตัวเลขพบว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหญิงกลุ่มใหญ่สุด 120 คนเป็นคนไทย ส่วนชายกลุ่มใหญ่สุด 126 คนเป็นชาวเมียนมาร์ ตามด้วยเวียดนาม 83 คน

ส่วนผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน กลุ่มใหญ่สุดเป็นชาวเมียนมาร์ 159 คนจากทั้งหมด 304 คน ตามด้วยเวียดนาม 86 คน ซึ่งเป็นทั้งหมดของชาวเวียดนามที่เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย 

ด้านนางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักวิจัยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เสนอรายงานพร้อมระบุว่า ผู้เสียหายที่เป็นคนไทยใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือเงินชดเชยน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติ และมองว่านโยบายที่กำหนดจากส่วนกลางไม่ได้เก็บข้อมูลในพื้นที่ ทำให้ไม่เท่าทันสถานการณ์ค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและยังขาดบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ปัจจัยทางกฎหมายก็ขยายขอบเขตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานง่ายขึ้นและผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขนิยามการค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบให้กว้างขึ้นรวมถึงการเพิ่มบทลงโทษด้วย  

อย่างไรก็ดี รัฐไทยยังไม่มีความชัดเจนในการให้สิทธิ์ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้องดำเนินคดี รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้านยังมีน้อย ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังขาดการประสานงานที่เป็นเอกภาพ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนด้วย