ไม่พบผลการค้นหา
อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลหลายประเทศพยายามควบคุมหรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตของประชาชน ยูเนสโกจึงจัดนิทรรศการศิลปะที่จะทำให้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนทั่วโลก ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารระหว่างกันทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก

นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังทำให้เสียงของคนทั่วไปดังขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะทุกคนมีช่องทางในการแสดงออกมากขึ้น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จึงเห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิที่สำคัญสำหรับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

วันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลปีนี้ ยูเนสโกได้จัดนิทรรศการแสดงศิลปะในหัวข้อ Internet Universality Beyond Words ที่ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ หรือ TCDC ไปจนถึงวันที่ 14 ต.ค.นี้ เพื่อทำให้คนทั่วไปได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า สิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคืออะไร และหากรัฐจำกัดการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ตจะส่งผลต่อประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ

อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือตรวจสอบ

'วีร์ วีรพร' หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กับนิทรรศการนี้อธิบายผลงานของตนเองว่า ยุคปัจจุบัน ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อต่างๆ เก็บรายละเอียดชิ้นส่วนข้อมูลมาปะติดปะต่อกันจนเห็นเป็นภาพใหญ่ เช่นเดียวกันผลงานของเขาที่นำข่าวสารที่เราได้รับทุกวันนี้มาปะติดปะต่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกันจนเป็นภาพใหญ่เป็นดวงตาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มองกลับมาที่ประชาชน

วีร์กล่าวว่า นิทรรศการนี้ พูดถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนมีอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถตรวจสอบและตั้งคำถามกับการใช้จ่ายของภาครัฐได้มากกว่าเมื่อก่อน มีพี่น้องประชาชนร่วมกันหรือว่าสำนักข่าวต่างๆ คอยช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลมาให้วิเคราะห์ได้มากขึ้น ซึ่งเขาถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือให้ประชาชนได้จับตามองการกระทำของรัฐบาลได้ใกล้ชิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จับตามองประชาชนกลับผ่านการมอนิเตอร์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราเหมือนกัน และวีร์ยังถามย้อนถามว่า สายตาของผู้นำประเทศที่แข็งกร้าวเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ที่จะใช้มองประชาชนภายในประเทศ


วีร์ วีรพร

(วีร์ วีรพร หนึ่งในเจ้าของงานศิลปะในนิทรรศการเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของยูเนสโก)

รัฐเซนเซอร์ และ เซนเซอร์ตัวเอง

'เป็นเอก รัตนเรือง' ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังที่ไปร่วมเสวนาเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ตยอมรับว่า เขาเองใช้อินเทอร์เน็ตน้อยมาก และไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียอีกด้วย ซึ่งการไม่ใช้อินเทอร์เน็ตก็ทำให้เขาสูญเสียโอกาสมากมาย เช่น การโปรโมทภาพยนตร์ของตัวเอง แต่เขารู้สึกกลัวติดคุกมากกว่า หากเขาเผลอแสดงความคิดเห็นอะไรที่อาจทำให้มีคนไม่พอใจ

เป็นเอกระบุว่า คนที่ทำงานสร้างสรรค์ในยุคนี้มีความอึดอัดเป็นพื้นฐาน เพราะต้องระมัดระวังว่า หนังที่คิดจะทำจะเล่าอะไรได้บ้าง จะทำเรื่องแนวได้ สคริปต์ที่เขียนจะออกมาเป็นอย่างไร จนนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเอง โดยเขาได้ยกตัวอย่างตอนที่เขาทำภาพยนตร์ “ประชาธิป′ ไทย” เขาระบุว่า แทบทุกคนตั้งคำถามกับเขาว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ของเขาจะได้ฉายหรือไม่ ทั้งที่ภาพยนตร์หลายเรื่องที่เคยทำก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาอะไร


“ผมคิดว่าจะทำหนังผีจะทำหนังรักอะไร ณ ปัจจุบัน มันก็คงอดไม่ได้ที่จะมีคอมเมนท์เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำหนังที่ปราศจากสิ่งนี้เลย เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเราตลอดเวลา เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราถูกกดเอาไว้ มันก็คงมีความระแวงอยู่ว่าจะกระทบกระแทกหรือไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ไม่สมควรไหม”



TCDC

(วงเสวนา Internet Universality Beyond Words โดยศิลปินและคนในวงการสื่อ)

ด้านมิซะโกะ อิโตะ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและข้อมูลประจำภูมิภาคของยูเนสโกระบุว่า จุดยืนของยูเนสโกคือ ในแง่กฎหมาย มีมาตรฐานสากลที่แต่ละประเทศต้องเคารพ ซึ่งระบุว่า รัฐบาลแต่ละประเทศมีอำนาจในการควบคุมข้อความที่ยุงยงให้เกิดความรุนแรงหรือความเกลียดชังเท่านั้น และบทลงโทษจะต้องสมเหตุสมผลกับความผิดด้วย เช่น คนที่แสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ควรจะถูกจับกุมคุมขัง

ส่วนข่าวปลอมและการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ยูเนสโกก็ส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันสื่อหรือการรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคารพสิทธิเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบนอินเทอร์เน็ต

TCDC

(นิทรรศการงานศิลปะเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต)

อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้คนทำงานสร้างสรรค์

อิโตะกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตทำให้คน สถานที่ หรือประเด็นที่เคยซ่อนอยู่ในอดีต มีตัวตนขึ้นมา ทำให้สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้ อีกทั้งยังทำให้มีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย โดยอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมความสร้างสรรค์ ด้วยการแบ่งปันความรู้ ทำงานร่วมกัน

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญกับคนทำงานสร้างสรรค์อย่างมาก เพราะเวลานักออกแบบหรือศิลปินจะสร้างผลงาน สินค้าหรือบริการ พวกเขาจะต้องมีความเข้าใจโลกพอสมควร และการเข้าใจโลก และหาข้อมูลพื้นฐานง่ายๆ ก็สามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเป็นอุปกรณ์เบื้องต้นที่ศิลปินจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ ต้องการที่จะเข้าใจ และก็สร้างสิ่งใหม่ เพื่อที่จะสื่อสารกับผู้คนที่เขาต้องการจะสื่อสารด้วย

ด้าน 'นุชชี่' หรือ 'อนุชา บุญยวรรธนะ' ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังกล่าวว่า เมื่อนึกถึงคำว่า “สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ต” ก็นึกถึงอนาคต หากว่าไทยสามารถทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงก็จะดีกับทุกคน โดยเธอระบุว่า ในฐานะคนทำภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ตก็ทำให้เปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับการเข้าถึงคนดูไปมากเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา หนังเล็ก หรือหนังที่ไม่ใช่กระแสจะมีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ได้น้อยมาก เพราะอุปสรรคเรื่องนายทุน แต่อินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่หนังขนาดกลางหรือเล็กอย่างหนังดราม่าจะเข้าถึงคนดูได้มากขึ้น

“อินเทอร์เน็ตก็จะมีกฎเกณฑ์ของเขาอยู่บ้างเหมือนกัน แต่มันก็เปิดให้ภาพยนตร์ที่หลากหลายแนวได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังเล็กหนังน้อย ไม่ได้เป็นกระแสหลักมาก ก็มีโอกาสได้เผยแพร่ได้ แต่ถามว่าคนจะเข้ามาดูมันเยอะหรือเปล่า มันก็เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะมันมีภาพยนตร์มากมายที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วก็ต้องแข่งกับคนทั้งโลก”

_P3A1943.JPG