ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในเมียนมากว่าร้อยแห่งกดดันรัฐบาลท้องถิ่นให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมหนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ แทนพลังงานฟอสซิล

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในเมียนมา 131 แห่ง ร่วมชุมนุมและออกแถลงการณ์ที่เมืองพะอันในรัฐกะเหรี่ยง วันนี้ (4 เม.ย.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยง (KSG) ดำเนินการตามคำสั่งของอูวินข่ายง์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา ซึ่งแถลงตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลกลางจะไม่อนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกกะวัตต์ที่เมืองพะอัน

“เราดีใจมาก และรู้สึกขอบคุณที่ได้ยินการแถลงจากรัฐมนตรีกลางว่าโครงการได้ถูกยกเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะดีใจ แต่เราก็ยังคงระมัดระวัง เราหวังว่าผู้แทนของรัฐบาลท้องถิ่นจะช่วยลดความกังวลของเราโดยการตามรอยรัฐมนตรีกลาง และประกาศสนับสนุนการยกเลิกโครงการนี้” ซอ อ่อง ตาน ทวย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกล่าว

เครือข่ายองค์กรทั้ง 131 แห่งยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเมียนมา ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ ทั้งโครงการที่กำลังรอพิจารณา และโครงการที่ถูกระงับไว้ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแผนเลื่อนการชำระหนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งชาติออกไปก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนพม่า และรัฐบาลจะต้องออกนโยบายและกฎหมายส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชนมากกว่า

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนด้านพลังงานถ่านหินในเมียนมา รวมถึง บริษัท โตโย ไทย พาวเวอร์ เมียนมาร์ (TTCL) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่สำรวจและเสนอจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หมู่บ้านอังแตงในรัฐมอญของเมียนมามาก่อน แต่ถูกชาวบ้านราว 5,000 คนชุมนุมประท้วงจนต้องยกเลิกโครงการไป

ต้านถ่านหินพะอัน

จากนั้นในปี 2560 บริษัท TTCL ได้เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่เมืองพะอันในรัฐกะเหรี่ยง แต่ก็ถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านเช่นกัน เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบที่จะตามจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งปัญหาการบังคับย้ายถิ่นฐาน มลพิษทางอากาศและน้ำ วิถีชีวิตที่ถูกทำลาย และผลกระทบอื่นๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยชุมชนหลายแห่งในเมียนมาสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้นทุนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ชุมชนในเขตชนบทของเมียนมาได้ดำเนินการโครงการพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้าแล้วกว่า 3,500 โครงการทั่วประเทศ แต่ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการพลังงานในท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากกว่าการก่อสร้างโครงการพลังงานขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานถ่านหินและพลังงานน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายด้าน

ลำดับเวลาการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินพะอัน

เม.ย. 2560: รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยง (KSG) และบริษัท โตโย ไทย พาวเวอร์ เมียนมาร์ (TTCL) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินพะอัน 

มิ.ย. 2560: องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยง 42 องค์กรและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ อีก 130 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินพะอัน

ต.ค. 2560: รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยงและ TTCL ลงนามในสัญญาร่วมทุนและสัญญาเช่าพื้นที่ 815 เอเคอร์ ระยะเวลาสัมปทาน 40 ปี โดยสถานที่ตั้งโครงการอยู่ในแม่น้ำสาะวิน แต่กลุ่มภาคประชาสังคมในท้องถิ่นรวบรวมลายเซ็นจากประชาชนที่คัดค้าน 2,980 รายชื่อ ส่งมอบให้หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐกะเหรี่ยง

พ.ย. 2560: ชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันต่อต้านโครงการของ TTCL แต่เจ้าหน้าที่ของ TTCL ได้ชักชวนให้รัฐบาลท้องถิ่นรัฐกะเหรี่ยงจัดการให้ประชาชนจากพะอันเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮคินันในประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างอิทธิพลและประชาสัมพันธ์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพะอัน

มี.ค. 2561: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา แถลงว่ารัฐบาลกลางจะไม่อนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกกะวัตต์ที่เมืองพะอัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: