ไม่พบผลการค้นหา
สนช.อภิปรายร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาราธอนกว่า 12 ชั่วโมง โหวตวาระ 3 ผ่านฉลุย ให้กฎหมายบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน หลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 213 เสียง, ไม่เห็นด้วย ไม่มี, งดออกเสียง 4 เสียง ,งดออกเสียง ไม่มี และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ 

จากนั้น สนช.จะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 

หลังจากที่ประชุมใช้เวลาอภิปรายและชี้แจงเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง โดยที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบในมาตรา 2 ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน นับแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลให้การจัดการเลือกตั้งต้องขยับออกไปอีก 3 เดือน 

ขณะเดียวกัน ยังมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบมาตรา 75 ให้มีการจัดงานมหรสพในการหาเสียงโดยเพิ่มเติมเงื่อนไข ต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 20% ตามงบประมาณการหาเสียงในมาตรา 64 

โดยระหว่างการอภิปรายก่อนหน้านั้น ประเด็นสำคัญอยู่การยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปอีก 90 วัน ซึ่งมีผลให้วันเลือกตั้งต้องขยับออกไป โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเสียงข้างมากยืนยันให้คงไว้ตามเนื้อหาที่แก้ไข คือให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน ขณะที่ กมธ.เสียงข้างน้อย โดยตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันให้คงเนื้อหาตามร่างเดิม โดยไม่ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายนี้

Image_844c5c8.jpg

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงในมาตรา 75 เกี่ยวกับข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น โดย กมธ. เสียงข้างมากให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างหาเสียงได้ ซึ่งตัวแทน กรธ.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับการให้จัดแสดงมหรสพระหว่างหาเสียง เพราะอาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า การให้มีมหรสพนั้นจะช่วยป้องกันการเกณฑ์คนมาฟังได้ การบอกว่าไม่มีมหรสพจะทำให้คนสนใจนโยบายพรรคมากกว่านั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น และเรื่องการได้เปรียบหรือเสียเปรียบไม่ใช่ปัญหา เพราะเรามีการควบคุมการใช้จ่ายเงินได้

อ่านเพิ่มเติม: