ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวสะท้านสะเทือนวงการทหารของอเมริกาและของโลกในขณะนี้ คือ การที่ พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน (Laura J. Richardson) รองผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการกำลังรบกองทัพบกของอเมริกา (The United States Army Force Command  หรือ FORSCOM) กำลังจะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการของ FORSCOM แทน พลเอก โรเบิร์ต บี. เอบรามส์ (Robert B. Abrams)   ที่กำลงจะย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐภาคพื้นเกาหลี

FORSCOM เป็นหน่วยรบของกองทัพบกอเมริกา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ควบคุมบังคับบัญชากำลังพลที่เป็นทหารมากถึง 776,000 นาย และเจ้าหน้าที่ที่เป็นพลเรือนมากถึง 96,000 คน

ที่ผ่านมา มีทหารหญิงในกองทัพบกอเมริกาเติบโตก้าวหน้าได้เป็นนายพลหญิงหลายคน แต่ไม่มีคนใดเป็นนายพลที่เติบโตจากการเป็นนักรบและดำรงตำแหน่งในหน่วยรบ แม้แต่พลเอกหญิงแอนน์ อี. ดันวูดดี้ (Ann E. Dunwoody) นายพลเอกหญิงระดับนายพลสี่ดาวคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2008 ก็เป็นนายทหารที่เติบโตจากหน่วยส่งกำลังบำรุง ไม่ใช่หน่วยรบ แต่พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน เริ่มอาชีพทหารด้วยการเป็นนักบินและสังกัดหน่วยรบมีผลงานโดดเด่นมาโดยตลอด

นอกจากนี้ พลโทหญิง ลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน ยังไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนทหาร แต่ จบการศึกษาด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย Metropolitan State University of Denver ในขณะที่นายพลหญิงที่คุมกำลังรบคนแรกของอเมริกา คือ พลเรือเอกหญิง มิเชลล์ จี. ฮาวเวิร์ด (Michelle J. Howard) รองผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการของกองทัพเรือ ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2014 นั้น จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือของอเมริกา

การที่ทหารหญิงที่มีตำแหน่งเติบโตในหน่วยรบและมีภูมิหลังการศึกษาที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนทหาร สามารถก้าวหน้าในหน่วยรบของกองทัพได้ถึงระดับนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้ แม้ว่า พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน มีสามีเป็นทหารเช่นกัน แต่กลับมียศต่ำกว่า คือเป็นเพียงพลตรี จึงตัดข้อครหาว่า “ได้ดีเพราะสามี” ออกไปได้หมดสิ้น 

กว่าที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าไปทำงานและก้าวหน้าในกองทัพอเมริกา ไม่ใช่เรื่องง่าย และผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน

ผู้หญิงเข้าทำงานในกองทัพอเมริกามาอย่างยาวนาน โดยทหารหญิงมีตำแหน่งเป็น พยาบาลทหาร ทหารสื่อสาร ทหารเสนารักษ์ ทหารส่งกำลังบำรุง ทหารการข่าว แต่ไม่ใช่ทหารนักรบในหน่วยรบ แม้ว่ารัฐสภาของอเมริกาลงมติให้โรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนทหารต่างๆของอเมริกาเปิดรับผู้หญิงเข้าเรียน ตั้งแต่ ปี 1975 แต่หลังจากนั้น ทหารหญิงก็ถูกจำกัดบทบาท จำจัดความก้าวหน้า จนเรียกว่ามี “เพดานแก้ว” ปิดกั้นไม่ให้ทหารหญิงเติบโตในกองทัพ และตำแหน่งสำคัญๆ ถูกสงวนไว้ให้ทหารชายเท่านั้น

จนปี 1993 รัฐสภายกเลิกกฎที่ห้ามทหารหญิงดำรงตำแหน่งในหน่วยรบ ทำให้มีการรับผู้หญิงเป็นนักบินในหน่วยรบต่างๆ แต่ปี 1994 กระทรวงกลาโหมออกประกาศว่า แม้จะให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งในหน่วยรบได้ แต่ห้ามให้ทหารหญิงมีตำแหน่งที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในสนามรบโดยตรงอย่างเด็ดขาด แม้จะให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยของทหารหญิง แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นการกีดกันความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะตำแหน่งหลายตำแหน่งระบุว่าผู้จะดำรงตำแหน่งได้ต้องเคยผ่านการรบ ทหารหญิงจึงถูกกันออกไปจากการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ 

ต่อมา ปี 2013 รัฐสภายกเลิกกฎห้ามทหารหญิงมีตำแหน่งที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในสนามรบโดยตรง และให้โรงเรียนหลักสูตรการสู้รบต่างๆของกองทัพ เช่น หลักสูตรจู่โจม ต้องเปิดรับทหารหญิงเข้าเรียน

จนในปี 2016 จึงมีมติให้ทหารหญิงสามารถดำรงตำแหน่งใดๆก็ได้ ถ้ามีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ โดยต้องไม่ใช้เรื่องเพศเป็นเงื่อนไข

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น “วันแห่งความเท่าเทียมของผู้หญิง” (Women’s Equality Day) ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการที่ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในอเมริกา เมื่อ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1920 พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน ได้กล่าวสุนทรพจน์กับทหารหญิงที่ฐานทัพฟอร์ตแจ็คสัน ว่า “กองทัพไม่เพียงต้องยอมรับความสำคัญของผู้หญิง แต่ต้องยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ ด้วยความอบอุ่น และปราศจากการกีดกันใดๆ”

พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน เป็นทหารหญิงคนหนึ่งในบรรดาทหารหญิงหลายคนในกองทัพที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเรื่องการยกเลิกการกีดกันทหารหญิง และเรื่องความเท่าเทียมของโอกาสและความก้าวหน้าของทหารหญิงในกองทัพอเมริกัน

อเมริกากำลังแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องไม่กีดกันผู้หญิง และเคารพความเท่าเทียม แม้แต่ในองค์กรที่ขึ้นชื่อว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่