ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่ 6 พ.ค คุยแกนนำ 17 เครือข่าย แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพได้ข้อยุติแนวปฏิบัติ ระบุสร้างบ้านพักให้เสร็จแล้วกันเป็นเขตอุทยาน เป็นหนึ่งในทางออก แต่ต้องแก้กฎหมาย

หลังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาปมบ้านพักตุลาการ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 6 พฤษภาคมนี้ จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หารือแนวทางปฏิบัติกับเครือข่ายภาคประชาชน 17 เครือข่าย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นคนประสาน ซึ่งการพูดคุยวันนั้นจะนำความเห็นที่เคยรับฟังจากประชาชน และโซเชียลมีเดียมาประกอบซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยจะมีขั้นตอนเป็นระยะ 1- 2 - 3 และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำงานที่มีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องรอการพูดคุยในวันที่ 6 พ.ค.ก่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่อยากแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แม้ว่าความเห็นจะไม่ตรงกัน แต่ถ้าทุกฝ่ายยึดหลักความจริง ความถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็จะมีทางออก

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายฯ ให้สร้างบ้านพักให้แล้วเสร็จ แล้วกันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่จะต้องดูข้อกฎหมาย โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย

ทั้งนี้ นายสุวพันธุ์ ระบุ จะพยายามใช้กฎหมายปกติ เพราะหากใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 อาจจะเห็นผลเร็ว แต่อาจจะมีปัญหาตามมา ดังนั้นการใช้กฎหมายปกติเป็นเรื่องดีเพราะหากวันข้างหน้าเมื่อเกิดปัญหา ไม่มี ม.44 จะทำอย่างไร

ไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 รื้อทรัพย์สินทางราชการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการ ว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงพื้นที่พูดคุย เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ปัญหา เนื่องนายสุวพันธ์ เคยทำงานลักษณะนี้ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่กังวลว่าปัญหาดังกล่าวจะบานปลาย เพราะการชุมนุมเรียกร้องยังมีเป้าหมายที่สุจริต เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรก ซึ่งถือเป็นผลดี เพราะการแก้ปัญหาจะง่ายขึ้น 

นายวิษณุ ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นศาล ประชาชน และฝ่ายที่ดูแลอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องเห็นใจข้าราชการศาล เพราะโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทรณ์ภาค 5 เป็นข้อตกลงเดิม ที่ทำขึ้น ตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ และดำเนินการมากว่า 10 ปี เพื่อให้ข้าราชการศาลมีที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มก้อน ขณะเดียวกันเห็นว่าปัญหานี้ไม่น่าจะถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินทางราชการ เพราะมาตรา 44 จะใช้ในทางสร้างสรรค์เท่านั้น ส่วนข้อเสนอให้ทำประชามติ ว่าจะรื้อถอน หรือไม่คงสภาพนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า การทำประชามติเป็นเรื่องใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องมีเวทีแสดงความเห็น มีการตั้งประเด็น ร่วมไปถึงเข้าคู่หากากบัตร คล้ายการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 60 แต่สามารถทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นได้ เพราะไม่สิ้นเปลื้อง ซึ่งล่าสุด เพจไทยคู่ฟ้า ของทำเนียบรัฐบาล ก็ได้เปิดให้แสดงความเห็น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณ์ตัดสินใจดำเนินการ และเพจอื่นๆ ก็สามารถทำร่วมกันได้ ซึ่งการตัดสินใจเกี่ยวกับทางออกของปัญหานี้จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย เพจ ไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โพสต์ระบุข้อความขอบคุณประชาชน ภายหลังขอความเห็นต่อกรณีดังกล่าว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กตอบคำถามกว่า 17,000 ข้อความ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เสนอให้รื้อบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพทิ้ง