ไม่พบผลการค้นหา
ม.หอการค้า เผยผลสำรวจ SMEs จดทะเบียนนิติบุคคล มีถึงร้อยละ 70 ไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคล ขณะที่กลุ่มจดแล้ว ธุรกิจเติบโตดีขึ้นชัดเจน ยอดขายเพิ่มร้อยละ 40.7 กำไรพุ่งขึ้นร้อยละ 32.7 ด้านเอสเอ็มอี แบงก์พร้อมต่อยอดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ผ่อนปรนเกณฑ์ คู่เติมความรู้บัญชีการเงิน อุ้มเข้าระบบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจความคุ้มค่าของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า มีสถานประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว 7-8 แสนราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุมีผู้ประกอบการ SMEs 2.5 ล้านราย

โดยผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.75 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ยังไม่ยอมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงเนื่องจากความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ ไม่สามารถไปถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ได้

จากการสำรวจ SMEs ทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง ต่อสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ (เทียบกับปีที่ผ่านมา) ระหว่าง 'SMEs ที่จดทะเบียน' กับ 'SMEs ที่ไม่ได้จดทะเบียน' จะเห็นว่า SMEs ที่จดทะเบียนมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.7  กำไรดีขึ้นร้อยละ 32.7 ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 24.2 และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 27.4

ขณะที่ SMEs ที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีการปรับตัวดีขึ้น/เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ด้านความต้องการสินเชื่อ SMEs ส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ปัจจุบันต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ร้อยละ 32.56 ลงทุนเพิ่ม ร้อยละ 9.52 ใช้จ่ายทั่วไป ร้อยละ 6.48 ชำระหนี้เก่า ร้อยละ 5.36 และอื่นๆ ร้อยละ 0.48

โดยศูนย์พยากรณ์ฯ ได้แยกกลุ่มสำรวจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 'กลุ่มที่จดทะเบียนนิติบุคคล' และ 'กลุ่มที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล' โดยถามกลุ่มตัวอย่างว่า หากการกู้เงินในระบบอาจจำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลจะทำการจดทะเบียนหรือไม่ พบว่าร้อยละ 43.31 ตอบว่าจดทะเบียน และกรณีเมื่อจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว มองว่าจะขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.56 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 1.04 ล้านบาท ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.39 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 7.38 แสนบาท และอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.81 เป็นมูลค่าเฉลี่ย 3.72 แสนบาท

อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่ตอบว่าไม่ทำการจดทะเบียนสูงถึงร้อยละ 34.27 และไม่แน่ใจว่าจะจดทะเบียนหรือไม่ ร้อยละ 22.41

จดทะเบียนนิติบุคคล เพราะรัฐจูงใจเรื่องยกเว้น-ลดหย่อนภาษี

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่จดทะเบียนนิติบุคคล มองว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้จดทะเบียนนิติบุคคลมาจากการที่รัฐบาลยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีสำหรับผู้จดทะเบียนนิติบุคคล รองลงมาคือ ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลจะจ่ายภาษีได้ถูกกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน ธุรกิจที่จดทะเบียนมีการทำบัญชีอย่างถูกต้อง และธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลหากมีความต้องการใช้สินเชื่อสามารถยื่นเรื่องกู้ได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน 

กลุ่มตัวอย่างยังระบุด้วยว่า การจดทะเบียนนิติบุคคลมีประโยชน์มากกว่าไม่จดทะเบียนถึง ร้อยละ 76 ส่วนที่บอกว่าไม่แตกต่าง ร้อยละ 22.36 และกลุ่มที่บอกว่า การไม่จดทะเบียนมีประโยชน์มากกว่าจด เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

ส่วนทัศนคติต่อการจดทะเบียนนิติบุคคล พบว่า ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลสามารถกู้เงินได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน ร้อยละ 95.14 มีต้นทุนในเรื่องดอกเบี้ยถูกกว่าร้อยละ 64.78 มีภาระค่าใช้จ่ายภาษีน้อยกว่าร้อยละ 77.33 ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายรัฐเร็วกว่าร้อยละ 78.54 ได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้ามากกว่าร้อยละ 91.87 และได้รับประโยชน์มากกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคลถึงร้อยละ 91.80

สะท้อนได้จากผลการจดทะเบียนนิติบุคคลกรณีเปรียบเทียบก่อนและหลังเมื่อมีการจดทะเบียนพบว่า ธุรกิจสามารถขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.18 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยที่เปลี่ยนจากก่อนจดทะเบียน 1.36 ล้านบาท นอกจากนั้น รายได้ของธุรกิจเปลี่ยนไปจากก่อนจดทะเบียนนิติบุคคล 1.78 ล้านบาท และโครงสร้างต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงจากก่อนจดทะเบียน 6.91 แสนบาท ในแง่ของความคุ้มค่าของการจดทะเบียนนิติบุคคล ร้อยละ 44.03 มองว่าคุ้มค่ามาก เพราะสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น วงเงินกู้สูงขึ้น ได้รับการลดหย่อนภาษี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มโอกาสได้ลูกค้าใหม่ และมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐเพิ่มขึ้น

ร้อยละ 43 หวั่นถูกเก็บภาษีเพิ่ม จึงไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคล

จากผลสำรวจยังพบว่า 5 ปัจจัยแรกที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคลมาจาก

  • อันดับ 1 กลัวเรื่องการถูกเก็บภาษีถึงร้อยละ 43 
  • อันดับ 2 ระยะเวลาในการจดทะเบียนหรือไม่มีเวลาไปจดทะเบียน ร้อยละ 40.5
  • อันดับ 3 ได้รับการบอกเล่าที่ไม่ดีจากการจดทะเบียนร้อยละ 40.2
  • อันดับ 4 การจดทะเบียนนิติบุคคลทำได้ยาก-เอกสารเยอะถึงร้อยละ 38.4
  • อันดับ 4 การเป็นนิติบุคคลจะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบได้ละเอียดร้อยละ 38.2

ทั้งนี้ ข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้แก่ 1.ไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 2.ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน 3.เมื่อเกิดวิกฤตธุรกิจต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 4.ให้ความรู้ด้านบัญชีและการจดทะเบียน 5.ให้ความมั่นใจและความคุ้มค่ากับเจ้าของกิจการว่าหากจดทะเบียนแล้วจะได้รับประโยชน์อย่างไร รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจดทะเบียนให้เพิ่มมากขึ้น 6.ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนและขยายเวลาในการเก็บเอกสาร 7.ลดหย่อนภาษีและอัตราดอกเบี้ย และ 8.อำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานต่างๆ

เอสเอ็มอี แบงก์ พร้อมสนับสนุน SMEs จดทะเบียนนิติบุคคล รับสินเชื่อดอกเบี้ยไม่แพง

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการกู้เงินจากสถาบันการเงินไทย จะต้องนำบัญชีที่ยื่นเสียภาษีกับกรมสรรพากรมาประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ กระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน 

ดังนั้น ธนาคารมุ่งผลักดัน SMEs กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับนิติบุคคล ส่วนบุคคลธรรมดายื่นขอกู้ได้ แต่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลให้เสร็จก่อนอนุมัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน เปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี ผ่อนชำระเพียง 410 บาทต่อวันเท่านั้น และ สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว 

สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก เพื่อธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม ควบคู่กับเติมความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy ซึ่งเป็น 1 ใน 9 มาตรการส่งเสริม SMEs ที่ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจัดสรรงบประมาณ 5-10 ล้านบาท สำหรับจัดอบรมความรู้ด้านการเงินบัญชีภาษี ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย หรือ "จุลเอสเอ็มอี" เข้าจดทะเบียนนิติบุคคล รวมถึง สร้างแพลตฟอร์ม SME D Bank บรรจุซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันช่วยบริหารระบบบัญชีแบบง่ายๆ (Accounting Management) ไว้หลากหลาย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยอัตโนมัติ และเติบโตอยู่รอดอย่างยั่งยืน

อีกทั้ง การเข้าจดทะเบียนนิติบุคคล ช่วยให้ภาครัฐรู้ตัวตนของ SMEs สามารถเดินเข้าไปสนับสนุนได้รวดเร็วและตรงจุด ตัวอย่างเช่น สินค้าพรมละหมาดจาหยางพารา แบรนด์ 'KAYOR' จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จัดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่รับเบอร์เทค ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ยร้อยละ 1 หรือ บริษัท เนทีฟ ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาร้า พาสเจอร์ไรส์ แบรนด์ 'ปลายจวัก' ได้รับการสนับสนุนขยายช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Shopee และรับสิทธิ์ออกบูธ อาทิ งานตลาดนัดวายุภักษ์ รักประชาชน และตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ช่วยสร้างยอดขายเพิ่มกว่าร้อยละ 150 เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :