ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ซึ่งหันมาส่งเสริมงานด้านสังคมและสาธารณสุข เผยแพร่วิดีโอในเฟซบุ๊กของเขา ระบุการช่วยชีวิตคนด้วยระบบสาธารณสุขและยาที่ดี ไม่ได้ทำให้ประชากรล้นโลก ชี้ครอบครัวรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลงเรื่อยๆ

ในคลิปวิดิโอขนาดสั้น 2 นาที บิล เกตส์ อ้างอิงถึงข้อสงสัยว่าหากประชากรโลกได้รับการดูแลด้านสุขภาพดีขึ้น อาจจะมีแนวโน้มว่าประชากรจะล้นโลก และการดูแลสิ่งแวดล้อมก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

เกตส์ ระบุว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่รวดเร็ว จำนวนประชากรโลกในคริสต์ศตวรรษ 1800 มีประมาณไม่ถึงหนึ่งพันล้านคน แต่ในปี 2015 มีประชากรอยู่ราว 7,400 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การคาดการณ์เช่นนี้นำมาสู่คำถามว่าหากให้บริการด้านสาธารณสุขที่ช่วยรักษาชีวิตเด็กๆ และยาใหม่ๆ จะนำไปสู่ปัญหาจำนวนประชากรใช่หรือไม่ ซึ่งเขาพบว่า โดยสถิติแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เขาแสดงแผนภูมิให้เห็นว่า แม้ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นสะสม แต่ว่าตัวเลขประชากรเกิดใหม่นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิง จำนวนประชากรเกิดใหม่ในหลายประเทศลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ 

เขาระบุว่าครอบครัวเลือกที่จะมีลูกน้อยลง และปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก 

ในขณะที่ประชากรโลกน่าจะมีประมาณ 11,200 ล้านคนในปี ค.ศ. 2100 ในขณะที่อัตราการเกิดในปี ค.ศ. 1960 คือ 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร แต่ตัวเลขนี้ลดลงเรื่อยๆ จนคาดว่าใน ค.ศ. 2100 จะมีอัตราการเกิดต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์

“การพัฒนาด้านสาธารณสุขยิ่งเร็ว ขนาดของครอบครัวก็ยิ่งลดลงเร็วเช่นกัน” บิล เกตส์ กล่าว 

หลายปีมานี้ บิล เกตส์ และภรรยา เมลินดา หันมาทำงานส่งเสริมสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพทั้งการรักษา การเข้าถึงยาและวัคซีน ในประเทศกำลังพัฒนา และปีนี้มูลนิธิบิลและเมลินดา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมงานด้านการพัฒนาสังคมในมิติต่างๆ รวมถึงด้านสาธารณสุขมีแผนจะใช้งบประมาณราว 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการส่งเสริมการแก้ปัญหาโรคมาเลเรียในแถบอเมริกากลาง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2016 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงการบริการและการรักษาขั้นพื้นฐาน ถึง 5.6 ล้านคน และเด็กในเขตประเทศแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารามีอัตราการตายสูงกว่าถึง 15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง