ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เผยร่างแก้ไขกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์ฯ ยังต้องรอรับฟังความเห็นตาม ม.77 รับได้หากสังคมรุมค้านอาจถอนร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ปัดแนวคิดกฎหมายมาจากนายกฯ สั่งการ หลังทนเห็นสุนัขถูกทอดทิ้งไม่ได้ ด้านนายกฯ สั่งทบทวนอัตราค่าปรับไม่ให้กระทบกับประชาชน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยกำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน มีค่าใช้จ่าย 450 บาทต่อตัว หากฝ่าฝืนจะเสียค่าปรับไม่เกิน 25,000 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นร่างกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และยังต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรีและส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและรับฟังความเห็นประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีขั้นตอนการพิจารณาอีกมาก คงไม่สามารถส่งให้ สนช.พิจารณาได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ และหากสังคมไม่เห็นด้วยก็สามารถถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

นายวิษณุ ยืนยันการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่การวางทุ่นให้รัฐบาลชุดต่อไป หากรัฐบาลหน้าไม่เห็นด้วยก็สามารถเพิกถอนหรือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปปรับแก้ไขใหม่ ส่วนค่าขึ้นทะเบียนและค่าปรับที่สังคมมองอาจสร้างภาระให้ประชาชนนั้น ยังเป็นแนวคิดที่สามารถปรับแก้ได้เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ 

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นภาพสุนัขถูกทิ้งที่จังหวัดระยองเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าการร่างกฎหมายคงไม่สามารถทำได้รวดเร็วขนาดนี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมว่า การมีกฎหมายจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน โดยเฉพาะคนที่รักสัตว์และรับเลี้ยงสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งอาจกระทบกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งเสียงและเชื้อโรค แต่ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือจำนวนสัตว์เลี้ยงเท่าใดจึงควรขึ้นทะเบียน และตนเองไม่สามารถบอกได้ว่าต้องเป็นจำนวนเท่าใด 

พร้อมกันนี้นายวิษณุ ยังกล่าวติดตลกว่า ตนเองก็มีสัตว์เป็นแมวและสุนัขซึ่งมี 1 ตัว แต่สุนัขอาจจะตายก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และยังบอกด้วยว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่2 ที่ตนเองรับผิดชอบก็ไม่รับพิจารณาเรื่องสัตว์ เพราะเรื่องคนก็ปวดหัวอยู่แล้ว

เผยนายกฯ สั่งทบทวนอัตราค่าปรับ หวั่นกระทบประชาชน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอกฎหมายดังกล่าวมีความตั้งใจแก้ปัญหาด้วยการขึ้นทะเบียนไม่ให้ทอดทิ้งสัตว์โดยไม่มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้นายกฯยังให้ข้อสังเกตอีกว่า ขอให้กลับไปมาเรื่องอัตราค่าปรับ การขึ้นทะเบียน และรายละเอียดต่างๆ ที่จะมีผลกระทบกับประชาชนในการดำเนินการ จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวก่อนจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีบอกว่า ตัวเองก็มีสุนัข และรักสุนัขเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเห็นด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นดี แต่ไม่อยากสร้างภาระให้กับประชาชน เนื่องจากมีการแปรเจตนารมมณ์ไม่ตรงกับที่นายกฯตั้งไว้

เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากกรณีที่นายกฯเคยแสดงความเป็นห่วงสุนัขจรจัดที่จังหวัดระยองหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ มาร่วมกันออกกฎหมายนี้ ส่วนสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นที่กฎหมายอนุญาตให้เลี้ยงได้นั้นกฎหมายดังกล่าวก็ครอบคลุมแต่ในระยะเริ่มต้นก็คงเริ่มที่สุนัขและแมวก่อนเนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนไทยนิยมเลี้ยง

เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหามาก อาจจะถอนกฎหมายไปเลยหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า คงไม่ถึงกับถอนร่างกฎหมาย แต่เป็นการทบทวน ซึ่งข้อดีของร่างพ.ร.บ.นี้มีจำนวนมาก แต่การดำเนินการต้องออกให้รอบคอบไม่กระทบกับประชาชน เพราะทุกคนมีสัตว์เลี้ยง ถ้าทุกคนขึ้นทะเบียนก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีขั้นตอนที่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้มีการควบคุมขึ้นทะเบียนสัตว์ทุกประเภทที่อยู่ในความครอบครอง เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง รวมถึงเพิ่มบทบาทหน้าที่ของส่วนราชการท้องถิ่นให้สามารถออกบทบัญญัติเพื่อขึ้นทะเบียนสัตว์ มีอำนาจเทียบปรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ไม่เกิน 25,000 บาท โดยให้ถือเป็นรายได้ท้องถิ่น การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ท้องถิ่นจะออกบทบัญญัติความรับผิดชอบในสุนัขและแมวก่อน เพราะถือเป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันที่มีการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จำนวนมาก ดังนั้น เจ้าของจึงควรดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างดี ไม่ควรปลอ่ยให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือความรำคาญแก่ผู้อื่น

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2. กำหนดให้เพิ่มบทนิยามศัพท์คำว่า “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” เพื่อให้มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์

 3. กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการควบคุมทางทะเบียน และให้เจ้าของสัตว์มาแจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนสัตว์ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีของหน่วยงานของรัฐหรือสถานสงเคราะห์สัตว์ โดยกำหนดให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าปรับเป็นของราชการส่วนท้องถิ่น 

4. กำหนดโทษสำหรับความผิดของเจ้าของสัตว์ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น และ 5. กำหนดให้เพิ่มอำนาจเปรียบเทียบให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น และอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ