ไม่พบผลการค้นหา
การศึกษาไทยกำลังถูกท้าทายด้วยคลื่นการแข่งขันของกระแสโลกที่นับวันทวีความรุนแรงและไร้กติกาจนควบคุมไม่ได้ ความเหมือนอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับการอยู่รอดในอนาคตอีกต่อไป ทักษะและความรู้แบบเดิมที่เคยถ่ายทอดกันมาอาจทำให้ไปถึงเส้นทางอาชีพและอนาคตของตัวเองได้ช้ากว่าเดิม

แต่ถ้าอยากไปเร็วและชนะในสมรภูมิการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกอันดุเดือดนี้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ระบบการศึกษาไทยหรือแม้แต่คนที่อยู่ในระบบการศึกษาต้องพลิกโฉมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับห้องเรียนหรือแม้แต่กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูทำกับเด็ก



atthapol

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ถ้าเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ตอนนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเปลี่ยนหมดแล้ว วิธีการเรียนรู้ วิธีการเข้าถึงข้อมูล ธรรมชาติการเรียนรู้คนมันเปลี่ยน มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น มันทำให้โจทย์การศึกษาแบบเดิมที่เน้นการส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดความรู้ ไม่เวิร์คกับเด็กรุ่นนี้” ผศ.อรรถพลกล่าว

เด็กในปัจจุบันนั้นเติบโตมากับทักษะอีกแบบหนึ่ง ถูกเรียกร้องให้ต้องมีทักษะในการหาข้อมูลเอง ทักษะในการตรวจสอบข้อมูล ทักษะที่จะเลือกผลิต เลือกแชร์ข้อมูลด้วยตัวเอง มีกระบวนการคิดอย่างรอบครอบมากขึ้น เพราะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น 

ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะต้องอยู่กับความเสี่ยงมากขึ้น ต้องวางแผนอนาคตตัวเองเพราะว่าเศรษฐกิจผันผวนเร็ว จะเอาตัวเองไปผูกกับองค์กรเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นและมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องการวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ทักษะอีกแบบหนึ่ง โจทย์แบบนี้ทำให้ผู้สอนต้องเปลี่ยนแปลงและมองการจัดการศึกษาให้เป็นการจัดโอกาสที่เกิดการเรียนรู้


โจทย์ที่ท้าทายคือ จากนี้ไปห้องเรียนไม่ได้ถูกคุมอำนาจโดยครูลำพังแล้ว


ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาบอกอีกว่า การเรียนด้วยตัวเอง นำตัวเองในการเรียนรู้ รู้ว่าตัวเองสนใจเรื่องอะไร และรู้วิธีการที่จะหาข้อมูล วิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลและกลั่นกรองเป็น มีทักษะเรื่องการคิดและวางแผนชีวิตตัวเองได้ จัดการชีวิตตัวเองจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และเป็นโจทย์ใหม่ ๆ ของการศึกษาทั้งของไทยและของโลก

เพราะฉะนั้นเม่ือมีโจทย์ใหม่ ๆ เข้ามานักการศึกษาหรือครูก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการชีวิตตนเอง ให้คนเป็นนายตัวเอง รู้ว่าจะจัดการบริหารชีวิตอย่างไร ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทักษะเหล่านี้จำเป็นมากขึ้นที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง




การเรียนรู้


“ครูกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ยิ่งนับวันบทบาทมันชัดเจนขึ้น พอเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ครูไม่สามารถเป็นผู้ครอบครองความรู้ได้เหมือนก่อน แต่ครูต้องเรียนรู้ไปกับเด็ก ทำให้บทบาทของครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เป็นโจทย์ที่ต้องเตรียมกับครูรุ่นใหม่ และครูที่อยู่ในระบบอยู่แล้วก็ต้องปรับตัว เพราะจากนี้ไป รอตำราเรียน รอความรู้ที่ครูถ่ายทอดไม่เพียงพอแล้ว เพราะข้อมูลเด็กเข้าถึงได้เร็วกว่าการมาเจอครู โจทย์เหล่านี้มีส่วนในการเปลี่ยนคนทำงานการศึกษาก็คือตัวครู” ผศ.อรรถพลเน้นย้ำ

ครูต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวเองมีความคิดในเรื่องสร้างสรรค์และทักษะบางอย่างเช่น การเป็นผู้ประกอบการ มองเห็นลู่ทางทางธุรกิจ ซึ่งต้องการสิ่งแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง การที่จะปั้นเด็กแบบนี้ได้ ครูก็ต้องส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ทำงานกับคนและวางแผนชีวิตเป็น




การเรียนรู้


“ เทรนด์การศึกษาจะเป็นหลักสูตรที่อิงกับสมรรถนะเด็กมากขึ้น ไม่ได้ไปตามดูแค่ความรู้ของเด็ก แต่ต้องดูว่าเด็กเป็นคนแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ท้าทายคือสมรรถภาพการแข่งขันซึ่งจะเป็นโจทย์ของการศึกษา” ผศ.อรรถพลกล่าว

นอกจากนี้การเรียนรู้ก็ควรเกิดขึ้นทุกหนแห่ง ทุกที่ทุกเวลา ไม่ได้ผูกขาดความรู้ไว้ที่โรงเรียน ทั้งนี้บทเรียนผลสำเร็จจากหลายประเทศก็ระบุว่าการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชั่วโมงที่ไปโรงเรียน แต่ส่งเสริมให้เรียนด้วยตัวเองที่บ้านซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ของการศึกษาไทย

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษายังมีส่วนสำคัญแม้จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างมากขึ้นเพราะจำนวนเด็กที่เข้าเรียนน้อยลง คนรุ่นใหม่เข้าเรียนน้อยลง เนื่องจากค่านิยมของสังคมยังติดกับดักว่าต้องเข้าเรียนมหาวิยาลัยที่มีชื่อเสียง เรียนคณะที่ตอบโจทย์แรงงาน แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีมักจะเห็นการประกาศว่าอาชีพไหนจะสูญพันธ์ุไปบ้างซึ่งสะท้อนว่า โลกของงานเปลี่ยนเร็วมากปีต่อปี เพราะฉะนั้นกว่าจะเรียนจบ บางทีที่คิดว่า งานที่อยากทำหลังเรียนจบอาจพ้นสมัยไปแล้ว 

คนยุคใหม่จึงต้องมีทักษะการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร ถนัดอะไรและมีจุดอ่อนอะไร ต้องพัฒนาเรื่องอะไร เพราะการแข่งขันมันจะเกิดขึ้นโดยที่ควบคุมไม่ได้ และมันเปลี่ยนเร็ว รูปแบบการแข่งขันก็เปลี่ยนง่าย กติกาก็เปลี่ยนง่าย เพราะสิ่งที่ต้องทำมากที่สุด คือรู้ว่าตัวเองคือใคร ทำอะไรได้ และจะทำให้โลกของงาน โลกของอาชีพมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเยอะมาก เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมักมาพร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ 

“นักรีวิวสินค้าออนไลน์ติดอันดับ 3 ของอาชีพที่มาแรงมา แสดงว่าใครก็ขายของได้ ไม่ต้องรอมีเงินถ้าเกิดเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นช่องทางที่มีประโยชน์และมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ มีสายตาในการมอง โอกาสของการลงทุนได้ก็เริ่มต้นจากการทำเรื่องใกล้ตัวได้ ทั้งหมดนี้ต้องพลิกโฉมห้องเรียน พลิกโฉมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูทำกับเด็กเลย พยายามส่งเสริมความเป็นตัวของเขาเองให้ชัดเจนมากขึ้นซึ่งต้องการครูอีกแบบในการมองเด็ก เคารพความแตกต่างได้ ไม่ได้คิดทำให้เด็กเหมือนกันหมด เพราะโลกอนาคตอันใกล้นี้ ความเหมือนกันอาจไปไม่รอด แต่ความต่างกันทำให้เด็กมีจุดแข็งในตัวเองที่ไปเจอเส้นทางอาชีพและอนาคตของตัวเองได้ง่ายมากกว่า” ผศ.อรรถพลกล่าว

ภาพประกอบ : unsplash