ไม่พบผลการค้นหา
นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตกรรมการแพทยสภายกย่องนายก-เลขาแพทยสภาเดินหน้าถอนฟ้องภาคประชาชน ทำจบสวยในการไกล่เกลี่ย ย้ำไม่เข้าใจสาเหตุกลุ่มต้านเรียกร้องปลดจากตำแหน่ง

สืบเนื่องจากกรณีที่ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายแพทย์ผู้ปฏิบัติงานจริง เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลด ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา และ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา หลังจากที่ไปถอนฟ้องนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเซียลมีเดียนั้น ล่าสุด นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา และ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา ดำเนินการถอนฟ้องนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา นับได้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องได้รับคำชื่นชมและสมควรถูกยกย่อง เพราะถือว่าเป็นการไกล่เกลี่ยภายในกระบวนการศาล และเชื่อได้ว่ากลุ่มแพทย์ที่เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลด ศ.นพ.ประสิทธิ์ และ นพ.สุกิจ คงไม่เข้าใจในกระบวนการไกล่เกลี่ย จึงเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แพทยสภากล้าหาญถอนฟ้องในครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพว่าวงการแพทย์ไม่ใช่การปกป้องกันเอง แต่ต้องปกป้องประชาชนด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเรียกศรัทธาให้แพทย์เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกๆ ด้านกลับมาได้ 

นพ.วันชัย กล่าวว่า ในอดีตเคยมีคำพิพากษาของศาลเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งจำไม่ได้ว่าคดีเกี่ยวข้องกับการรักษาซึ่งทำให้ผู้ป่วยตาบอด แต่ญาติผู้ป่วยฟ้องแพทย์ที่ทำการรักษา ศาลพิพากษาว่าแพทย์มีความผิด และขณะเดียวกันศาลระบุว่าแพทยสภาไม่ใช่องค์กรที่ศาลจะต้องรับฟังกับคดีที่เกิดขึ้น แต่ศาลต้องการรับฟังจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดมยาสลบผู้ป่วย นั่นจึงเป็นการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ และศาลไม่ได้ฟังแต่แพทยสภาเพียงอย่างเดียว 

“การถอนฟ้องครั้งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ขอชื่นชมว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี และผมก็ต้องชื่นชมการทำงานภาคประชาชนของนางปรียนันท์ที่ปกป้องสิทธิ์ของประชาชน แต่เมื่อเกิดการฟ้องร้องกันกระบวนการไกล่เกลี่ยจึงเป็นคำตอบที่ดีมาก เพราะทำให้เกิดการเยียวยา สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ดีกว่าการไปเอาชนะกันในศาล” อดีตกรรมการแพทยสภา กล่าว 

นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีอำนาจควรใช้โอกาสนี้มองไปข้างหน้าว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพทยสภาควรจะต้องมีการปรับปรุงได้แล้วหรือไม่ โดยเฉพาะกับการเลือกกรรมการแพทยสภาที่ควรมีภาคประชาชนเข้าร่วมทำงานด้วยเฉกเช่นที่ต่างประเทศได้ทำกัน ไม่ใช่การเลือกเหมือนกับหาผู้แทนราษฎรเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีแต่พวกพ้องและการปกป้องกันเอง ทำให้ประชาชนไม่อยากจะมาพึ่งแพทยสภาแล้ว