ไม่พบผลการค้นหา
เปิดอาชีพดาวรุ่ง ปี 2561 พบ อาชีพด้านไอที มาแรง ขณะที่ นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ เสี่ยงตกงาน หอการค้าไทย ประเมินประเทศไทย จะใช้เวลา 5-10 ปี ถ่ายโอนแรงงานเข้าสู่ระบบเทคโนโลยี หากมีปัจจัยเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีเร็วขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความต้องการของผู้ประกอบการในปี 2561 ส่วนใหญ่ ต้องการแรงงานที่มีความรู้และความสามารถด้านเทคโนโลยี และการวางระบบซอฟแวร์ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพ มาจากภาวะเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 อัตราว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 0.9 จากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของประชากรรวม พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ต้องการความสะดวกสบาย และมีโอกาสเข้าถึงระบบเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ การให้ความสำคัญของฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และการวางแผนธุรกิจมีมากขึ้น และการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการของไทยในหลายชนิดสินค้า

นายธนวรรธน์ คาดว่า ประเทศไทยจะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากแรงงานคนเข้าสู่ระบบดิจิตอล ภายใน 5-10 ปี แต่หากมีปัจจัยเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นเร็วเท่าไหร่ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไปใช้ระบบเทคโนโลยี ก็เร็วขึ้นเช่นกัน 

5 อาชีพเด่น ในปีหน้า(61) คือ แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์ ตามด้วย โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล  นักการตลาดออนไลน์ รีวิวเวอร์ เน็ตไอดอล นักการเงิน นักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที และกราฟฟิกดีไซน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร 

ส่วนอาชีพที่ไม่โดดเด่น 5 อันดับ ได้แก่ อาชีพตัดไม้ ช่างไม้ไร้ฝีมือ พ่อค้าคนกลาง อาชีพย้อมผ้า บรรณารักษ์ ไปรษณีย์ด้านส่งจดหมาย และพนักงานขายสินค้าหน้าร้าน หรือแม้กระทั่ง นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม