ไม่พบผลการค้นหา
สกุลเงินดิจิทัลเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก กำลังจะเข้ามาสู่วงการลูกหนัง ที่จะไม่ใช่แค่เปลี่ยนการทำธุรกิจทางการเงิน แต่อาจจะนำมาสู้ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น

‘ดัลลัส แมฟเวอริกส์’ (Dallas Mavericks) สโมสรในศึกบาสเกตบอล NBA  ที่มี ‘มาร์ค คิวบาน’ มหาเศรษฐีด้านนักลงทุนเป็นเจ้าของ ได้อนุญาตให้ใช้สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ในการซื้อตั๋วเข้าชมเกม และซื้อสินค้าต่างๆ ของทีม โดยสกุลเงินที่สามารถใช้ได้มี CyberMile, Etherum และ Bitcoin โดยคิวบานมองว่าการเข้ามาของสกุลเงินออนไลน์ในวงการกีฬา เป็นสิ่งน่าตื่นเต้น และจะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ทำให้แมฟเวอริกส์เป็นทีมใน NBA ทีมที่สองที่ยอมรับสกุลเงินดิจิทัล ต่อจากซาคราเมนโต คิงส์ (Sacramento Kings) ที่นำร่องไปก่อนตั้งแต่ปี 2014

นับตั้งแต่ Bitcoin สกุลเงินออนไลน์สกุลแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 ตามมาด้วยสกุลต่างๆ มากมายนับพันสกุล พวกมันถูกให้ความสำคัญในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ หลายสกุลเงินถูกยอมรับให้สามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนในโลกทางกายภาพได้ จนคาดว่าจะเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการเงินครั้งสำคัญ ที่ระบบธนาคารหรือรัฐบาลจะถูกลดความสำคัญลง

ในโลกของกีฬาที่แถบจะเป็นธรุกิจเต็มตัว ก็เหมือนกับส่วนอื่นๆ ที่พวกสกุลเงินออนไลน์ถูกนำเข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่จะถูกใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่มันอาจจะเข้ามาทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ซึ่งว่ากันว่าจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมกีฬาครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ท้าทายศรัทธาแฟนกีฬาในปัจจุบัน คือเรื่องของ ‘ความโปร่งใส’ อย่างในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA หลายคนถูกตำรวจสากลเข้าจับกุมระหว่างมีการประชุมในสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปี 2015 จากการที่เข้าไปพัวพันกับการคอรัปชั่น หรือนักฟุตบอลหลายคนมีข่าวการเลี่ยงภาษี แม้กระทั่งนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง ‘ลีโอเนล เมสซี่’ ก็ถึงกับต้องขึ้นศาลด้วยเรื่องนี้

ในระบบการเงินแบบเดิมนั้น เงินมักสามารถถูกโยกย้ายไปที่ต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์หรือการตรวจสอบต่างๆ ส่วนระบบของสกุลเงินออนไลน์ที่ข้อมูลจะถูกบันทึกลงระบบ Blockchain ซึ่งก็คือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงิน และสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ โดยไม่มีตัวกลาง คือสถาบันการเงิน

ลักษณะการบันทึกข้อมูลที่เป็นใยแมงมุมนี้ ทำให้กระจายการถือของข้อมูล (Decentralization) ที่เคยถือครองในเพียงสถาบันไม่กี่แห่ง กลายมาเป็นระบบที่ทุกคนสามารถถือครองร่วมกันได้ การนำเงินโยกย้ายไปซุกไว้กับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เพื่อหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์หรือการตรวจสอบ อย่างการเลี่ยงภาษีหรือฟอกเงินจึงเป็นไปได้ยากกกว่า เพราะจะสามารถูกตรวจสอบได้จากข้อมูลใน Blockchain

“มันนำเราไปสู่ความโปร่งใสที่มากขึ้น เส้นทางการเงินหรือเรื่องไม่ชอบมาพากลต่างๆ เราจะสามารถเห็นมันด้วยการปรับมาใช้  Blockchain เป็นคำตอบสำหรับความโปร่งที่แฟนๆ ควรจะได้รับจากทีมที่พวกเขารัก” พาโบล ดาน่า CEO ของ Heritage Sports Holding บริษัทโฮลดิ้งด้านกีฬาที่เป็นหัวเหอกสำคัญพยายามผลักดันสกุลเงินออนไลน์สู่กีฬา

สโมสรฟุตบอล ‘ลินคอล์น เรด อิมป์ส’ (Lincoln Red Imps F.C.) ในประเทศยิบรอลตาร์ ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยการประกาศว่าในฤดูกาลหน้า (2019-20) จะกลายเป็นสโมสรแรกที่จะจ่ายเงินค่าเหนื่อยและทำสัญญา โดยใช้สกุลเงินดิจิทัล (บางสกุลสามารถระบุสัญญาลงไปได้) เป็นต้นแบบการจ่ายค่าเหนื่อยที่สโมสรไม่สามารถผิดสัญญาได้ เพราะตัวสัญญาไม่ได้อยู่กับคู่สัญญาทั้งสองฝั่ง แต่อยู่ระบบ Blockchain ของแต่ละสกุลเงิน ยังทำให้สโมสรเล็กสามารถจ่ายเงินผู้เล่นต่างชาติได้ เพราะข้ามผ่านกำแพงธุรกรรมอื่นๆ อย่างเรื่องความต่างสกุลเงิน ทั้งนี้รัฐบาลยิบรอลตาร์กำลังดำเนินการจัดทำ “initial coin offerings” (ICOs) ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินโดยเฉพาะ หากกระบวนการไม่ติดขัดอะไร จะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลฉบับแรกๆ ของโลก

‘ยูเวนตุส’ (Juventus) และ ‘ปารีส แซงต์ แชร์กแมง’ (Paris Saint-Germain) สโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่เริ่มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสกุลเงินออนไลน์ โดยการวางแผนสร้างสกุลเงินของตัวเอง เพื่อให้แฟนบอลเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจบางระดับของสโมสร ทั้งสองสโมสรทำงานร่วมกับ Socios.com ที่ออกแบบจำนวนเหรียญของสกุลเงินตามจำนวนสมาชิกสโมสร แทนเสียงในการตัดสินใจ หากใครอยากมีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินมากก็สามารถหาซื้อเหรียญเพิ่ม

ไอเดียนี้เรียกว่า ‘Fan token’ ที่แฟนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิ์การตัดสินใจนี้ได้ เหมือนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อาจจะไม่ถึงขั้นเลือกโค้ชหรือผู้เล่นในทีมได้ แต่การตัดสินใจอย่างเช่นเรื่องสีของชุดแข่งหรือการจัดการสนาม ทำให้เกิดตลาดแลกเปลี่ยนใหม่ในหมู่แฟนบอล และขยายฐานแฟนบอลในอีกรูปแบบ อีกทั้งยังจะเป็นตัวอย่างวิธีระดมทุนที่ดีสำหรับทีมเล็กๆ

ดูเหมือนเศรษฐกิจดิจิทัลจะนำแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในวงการลูกหนัง แต่ก็มีข้อกังวลที่คาดว่าจะตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องอาจจะเกิดสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่าง Third-party ownership (TPO) ที่มีกลุ่มบุคคลที่ 3 ซึ่งอาจจะเป็น บริษัท, กลุ่มทุน, เอเยนต์ หรือนักลงทุนเพียงรายเดียวก็ได้ มาถือครองสิทธิ์ในตัวนักฟุตบอล ทำให้กรรมสิทธิ์รวมถึงสิทธิ์การตัดสินใจเรื่องต่างๆไม่ได้อยู่ที่ตัวนักเตะหรือทางสโมสรตนสังกัด

การทำสัญญาลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศแถบอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะในบราซิล, อาร์เจนติน่า, ชิลี, อุรุกวัย ซึ่งจะมีการเฟ้นหาดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์และมีแนวโน้มว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ และเสนอสัญญาแบบ TPO ให้ ซึ่งเป็นวาระที่ FIFA พยายามจะกำจัดให้หมดไป เพราะมองว่าเป็นเหมือนสัญญาทาสในสมัยใหม่

ซึ่งหลายคนว่าการทำสัญญาออนไลน์ผ่านระบบสกุลเงินดิจิทัล ดูจะเปิดช่องให้สามารถทำสัญญาลักษณะแบบนี้ได้


Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog