ไม่พบผลการค้นหา
คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวเดอะ จาการ์ตา โพสต์คัดค้านไม่ให้ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า หากไทยยังมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร เพราะจะเป็นการลดศักดิ์ศรีของประชาคมอาเซียนบนเวทีโลก

คอร์นีเลียส ปูรบา คอลัมนิสต์จากสำนักข่าวเดอะ จาการ์ตา โพสต์ของอินโดนีเซียเขียนบทความ “Don't let Thai junta chief chair ASEAN next year” หรือที่แปลว่า “อย่าให้ผู้นำเผด็จการไทยนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีหน้า”

ปี 2019 จะถึงคราวที่ไทยได้เป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ โดยนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มีกำหนดการส่งต่อเก้าอี้ประธานอาเซียนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในเดือน พ.ย.นี้ แต่ปูรบาระบุว่า การเปลี่ยนประธานอาเซียนครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านทั่วไปอย่างที่ผ่านมา เพราะการเป็นประธานอาเซียนอาจเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ พล.อ.ประยุทธ์

ปูรบากล่าวว่า ผู้นำเผด็จการไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่ง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ มาเลเซียก็เพิ่งจัดการกับผู้นำที่คอร์รัปชัน เมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแฟ่งรัฐของเมียนมาจะยังไม่มีอำนาจการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่ในหมวดหมู่ของประเทศที่มีประชาธิปไตยแล้ว แม้จะยังมีปัญหาภายในประเทศอยู่บ้าง

ในช่วงที่เมียนมามีรัฐบาลทหาร เมียนมาก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนเช่นเดียวกัน แม้จะเข้าร่วมประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปี 1997 แต่เมียนมาเพิ่งได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2014 หรือประมาณ 3 ปีหลังจากที่นายเต็ง เส่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ ตำแหน่งประธานอาเซียนจึงเป็นรางวัลให้แก่เมียนมาที่มีความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

แม้ที่ผ่านมาอาเซียนจะยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ แต่ปูรบากล่าวว่า อาเซียนจะต้องอับอายขายหน้าต่อหน้าประชาคมโลกโดยไม่จำเป็น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า พร้อมอธิบายว่า พลอ.อ.ประยุทธ์โค่นล้มรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยมิชอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับให้ความสำคัญกับการปราบปรามแกนนำฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร

ปูรบาได้เปรียบเทียบว่า กลยุทธ์ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ต่างจากผู้นำเผด็จการซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นการปราบสื่อ ชี้นำฝ่ายนิติบัญญัติ กดขี่เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม

หลังจากที่ผิดสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมภายในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะพยายามสุดความสามารถในการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า แต่ปูรบามองว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะไม่รักษาคำพูดอีก และประเทศเพื่อนบ้านควรช่วยกู้ชื่อเสียงของไทยให้กลับคืนมา เพราะไทยเป็นทั้งต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล เป็นประเทศที่ยอมรับหลักการพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ

นอกจากนี้ ไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมอาเซียนร่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ในวันที่ 8 ส.ค. 1967 และไทยก็มีตำแหน่งและบทบาทสำคัญในอาเซียนมาโดยตลอด เป็นประเทศเดียวที่ยังไม่เคยสัมผัสกับความขมขื่นของการตกเป็นอาณานิคม

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปมา 25 ครั้ง รัฐประหาร 19 ครั้ง และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 20 ครั้ง หลายคนเชื่อว่าคณะรัฐประหารชุดนี้เป็นหนึ่งในผู้นำเผด็จการที่กดขี่ประชาชนมากที่สุดของไทย ดังนั้น การคัดค้านไม่ให้ไทยเป็นประธานอาเซียนไม่ใช่การลงโทษประชาชนคนไทย แต่เป็นการลงโทษรัฐบาลทหารของพล.อ.ประยุทธ์ และไทยควรกลับคืนสู่ประชาธิปไตย

สัปดาห์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนจะไปประชุมกันที่สิงคโปร์ ซึ่งจะมีการพบปะกับประเทศมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรกับอาเซียนด้วย ปูรมามองว่านี่เป็นโอกาสดีที่เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับเพื่อนสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ปูรมายังเรียกร้องให้นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียใช้ยุทธศาสตร์การทูตแบบปิดเงียบในการหารือเกี่ยวกับผู้นำเผด็จการไทย โดยที่ยังเคารพหลักการของอาเซียน

ปูรมาย้ำว่า ไทยสมควรได้รับสิทธิในการนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียน แต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐบาลทหารที่ปล้นอำนาจจากประชาชนมากว่า 4 ปีแล้ว ดังนั้น ก่อนจะนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องทำตามสัญญาด้วยการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หากไม่ทำตามสัญญา ก็ไม่ควรเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า