ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทสร้างอวกาศยาน 'บลู ออริจิน' ปล่อยจรวด New Shephard ขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง พร้อมกับสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ทดสอบในภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจากหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย คาดมีทุเรียนร่วมเที่ยวบิน

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 บริษัทบลู ออริจิน (Blue Origin) บริษัทสร้างอวกาศยาน ได้ปล่อยจรวดนิว เชพเพิร์ด (New Shephard) ขึ้นสู่อวกาศ และเป็นครั้งแรกที่นำสัมภาระน้ำหนักรวม 6 กิโลกรัมจากเอเชียขึ้นไปด้วย ซึ่งบริษัทมิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศของไทย เป็นผู้ส่งสัมภาระดังกล่าว ซึ่งบรรจุสิ่งของทดลองทางวิทยาศาสตร์จำนวนหลายชิ้นจากสถาบันวิจัยต่างๆ ในประเทศไทย

ตามที่มีการประกาศ โดยบริษัท มิว สเปซ ก่อนหน้านี้ ระบุว่า บริษัทฯ ได้สิ่งของบางอย่างขึ้นไปพร้อมกับกระสวยอวกาศ (Payload) เช่น อุปกรณ์ห้ามเลือด, Carbon Nanotube ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ จากภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย เช่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

ในส่วนของ บริษัท มิว สเปซนั้น ได้ส่งวัสดุผ้าสำหรับใช้ในการทดลองเพื่อการพัฒนาและผลิตเป็นชุดอวกาศและอุปกรณ์เครื่องแต่งกายต่างๆ และยังได้ส่งเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ระหว่างคนไทยกับมหกรรมฟุตบอลโลก และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลและโค้ชทั้ ง13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

โดยครั้งนี้เป็นการทดลองใช้งานจรวดนิว เชพเพิร์ด เป็นครั้งที่ 9 และเป็นการส่งสัมภาระซึ่งเป็นสิ่งของจากเอเชียขึ้นไปในอวกาศเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ กระสวยอวกาศนี้จะขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดนิว เชพเพิร์ด ของบริษัทบลู ออริจิน ซึ่งสามารถปล่อยขึ้นสู่อวกาศและกลับมาลงจอดบนพื้นโลกในแนวดิ่ง และสามารถบรรจุสิ่งของได้หลายร้อยปอนด์ต่อการปล่อยจรวด 1 ครั้ง ในอนาคตจะนำนักบินอวกาศขึ้นไปได้ถึง 6 คน โดยจะทะยานไปสู่ระดับความสูงกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เป็นที่ยอมรับโดยสากลว่าเป็นจุดที่เริ่มเข้าสู่อวกาศ

บริษัทบลู ออริจิน นั้นก่อตั้งโดยเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทอะเมซอน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการริเริ่มให้มีการส่งมนุษย์ไปอยู่ในอวกาศ

โดยในช่วงเดือน พ.ย. 2558 จรวดนิว เชพเพิร์ด ของบริษัทบลู ออริจิน ได้กลายเป็นจรวดลำแรกที่มีการปล่อยขึ้นสู่อวกาศและกลับมายังพื้นโลกโดยการลงจอดแบบแนวดิ่ง และเพียงไม่ถึงสองเดือนต่อมาจรวดลำเดิมนั้นก็ได้ขึ้นสู่อวกาศและกลับมาลงจอดยังพื้นโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่อนาคตที่ผู้คนนับล้านจะมีการใช้ชีวิตและทำงานในอวกาศ

ส่วน บริษัท มิว สเปซ ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เพื่อพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และ Smart Cities โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะปล่อยดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยใช้ยานนิว เกลนน์ (New Glenn) ของบริษัทบลู ออริจิน เป็นพาหนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและต่อยอดสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้สอบถามไปยังโครงการสำรวจอวกาศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ก่อนหน้านี้ออกมาเปิดเผยเรื่องการส่งทุเรียนและข้าวไรซ์เบอรี่ขึ้นไปในอวกาศ เพื่อพัฒนาศักยภาพอาหารไทยไปเป็นอาหารอวกาศ

โดยทางเจ้าหน้าที่ GISTDA ตอบเพียงว่า "จะสรุปผลการทดลองเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่กำหนดวันที่จะเผยแพร่ความคืบหน้า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :