ไม่พบผลการค้นหา
'หมวดเจี๊ยบ' จี้ รัฐบาลปล่อยตัวชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาทันที พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืน มติ ครม. ที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และให้ดำเนินคดีอาญา ม.157 กับเจ้าหน้าที่ ๆ จับกุมและใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน ระบุแค่คำขอโทษจากนายกฯคงไม่เพียงพอ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แค่คำขอโทษของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อชาวเทพา คงยังไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรต้องทำ มี 3 เรื่อง คือ ปล่อยตัวชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

1. รัฐบาลต้องปล่อยตัวชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

2. ดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืน มติ ครม. ที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะมติ ครม. มีฐานะเป็นคำสั่งในทางบริหารที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การฝ่าฝืน มติ ครม. ถือเป็นความผิดทางวินัย หรืออาจผิดวินัยร้ายแรง ตาม ม. 84 และ 85(7) แห่ง พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 

3. ขอให้ดำเนินคดีอาญา ม.157 กับเจ้าหน้าที่ ๆ จับกุมและใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน เพราะเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ตาม ม.34 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตาม ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อันเป็น ก.ม. ระหว่างประเทศ ซึ่งไทยให้การรับรองไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ รัฐบาลต้องลงโทษต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน แล้วการที่ประชาชนมาร้องทุกข์ครั้งนี้ก็มีเหตุผลอันสมควรที่จะรับฟัง เพราะถ่านหินเป็นพลังงานที่ไม่สะอาดและชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยตรงในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญ รัฐบาลเอง ก็เป็นฝ่ายเดินทางลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน ก็เพื่อไปรับฟังทุกข์สุขของชาวบ้านไม่ใช่หรือ

นอกจากนี้ การใช้กำลังลงมือลงไม้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนและยังจับเขาเข้าคุกแบบนี้ อาจส่งผลกระทบไปถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะทำให้การทุ่มเทแก้ปัญหาตลอด 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ต้องสูญเปล่า เพราะการรังแกชาวบ้านในลักษณะนี้ คือ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้