ไม่พบผลการค้นหา
“ณัฐวุฒิ”นำญาติเหยื่อสลายชุมนุมปี 53  ทวงถามความคืบหน้าคดีต่อ ป.ป.ช. เรียกร้องให้เปิดเผยสำนวน “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ที่ถูกยกคำร้อง เพื่อหาพยานหลักฐานใหม่สู้คดี

วันที่ 12 ม.ค.61 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วย นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และญาติผู้เสียชีวิต เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทวงถามความเป็นธรรม และขอสำนวนการไต่สวนคดีที่ ป.ป.ช.มีมติตีตกสำนวนดังกล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยืนยันว่าการมาครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาเผชิญหน้า หรือท้าทายป.ป.ช.หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เพียงแต่เห็นว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี2553 มีคนตายมากที่สุดในการต่อสู้ทางการเมืองของไทย

แม้ป.ป.ช.จะยกคดีที่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี แต่ตัวกฎหมายยังมีช่องทางให้ดำเนินการต่อไปได้ จึงอยากจะขอสำนวนดังกล่าวจากป.ป.ช. เพื่อนำมาพิจารณาว่า ป.ป.ช.ใช้หลักฐานใดในการพิจารณายกคดีดังกล่าว เพื่อจะได้ไปรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆนอกเหนือจากนั้น ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่มาดำเนินการต่อสู้ต่อไป

ขอสำนวนดังกล่าวเพื่อความชัดเจน ตรงไปตรงมา และต้องการเทียบดุลพินิจของป.ป.ช. กับกรณีที่ป.ป.ช.จ้างทนายฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ปี 51 ทั้งที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งการที่ป.ป.ช.ยกคดีสลายชุมนุมนปช. ปี 53 แล้วจะถือว่ายุติในชั้นนี้ คงไม่อาจยอมรับได้ อยากให้คดีที่มีคนเจ็บ คนตายถึงชั้นศาล พร้อมยืนยันว่าจะแสวงหาความจริง และความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด จากนี้ หากป.ป.ช.ยังเพิกเฉย ไม่ส่งสำนวนคดีที่ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะใช้สิทธิ์ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทวงถามความคืบหน้าต่อไป

จากนั้น นายณัฐวุฒิ ทนายความ และญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าหารือกับ นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 เพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้น นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ ว่า เรื่องดังกล่าวป.ป.ช.ยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉย ดำนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคำร้องของญาติผู้เสียชีวิตที่มีการยื่นให้ป.ป.ช.

ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง1 ยืนยันว่า จะเสนอเรื่องต่อที่ประชุมป.ป.ช.ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนจะมีการเปิดเผยสำนวนการไต่สวนหรือไม่เป็นดุลพินิจของประธานป.ป.ช. โดยได้ให้ข้อเสนอแนะไปว่า เนื่องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ต่างกรรม ต่างวาระ มีรูปแบบ และยุทธวิธีที่แตกต่างกัน จึงควรแยกสำวนวนการไต่สวนเป็นรายกรณี