ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็นหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อออนไลน์ของไทยวันนี้คือกรณี 'สินสอด 80 ล้าน' ที่พาดพิงครอบครัวนักแสดงหญิงและคนรักที่เป็นนักร้องดัง จนเกิดข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ว่าสินสอดที่เหมาะสมคือเท่าใด และธรรมเนียมนี้ควรปรับเปลี่ยนหรือไม่?

เว็บไซต์ M-Culture ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีไทยของกระทรวงวัฒนธรรม เผยแพร่บทความเรื่อง 'การแต่งงานแบบไทย' โดยระบุว่า พิธีการแต่งงานสมัยนี้ถูกตัดทอนย่นย่อลงไป เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แต่ขั้นตอนที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ก็ยังรวมถึง 'ขั้นสินสอด' ซึ่งตามหลังพิธีการสู่ขอ

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า ค่าสินสอดจะเกิดจากข้อตกลงระหว่างครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งในวันยกขบวนขันหมากอาจมีการใส่เงินเพิ่มเข้าไปจากค่าสินสอดที่ตกลงไว้ โดยเป็นการถือเคล็ดว่า "เงินสินสอดนี้จะได้งอกเงย ได้ดอกออกผล" แต่ในความเป็นจริง การตกลงเรื่องสินสอดเป็นปัญหาใหญ่ในการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าสินสอดที่เหมาะสมควรมีจำนวนเท่าใด

แอปฯ สินสอดช่วยได้ (รึเปล่า?)

ปัจจัยชี้วัดอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับค่าสินสอดเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เห็นได้จากที่มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยคำนวณค่าสินสอดเกิดขึ้นหลายแอปฯ บ่งชี้ว่าแม้สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ประเด็นสินสอดก็ยังเป็นเรื่องที่คู่แต่งงานไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งยังจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์การคำนวณที่ชัดเจนกว่าที่เคยเป็นมา

แอปฯ 'สินสอด' ที่มีให้ดาวน์โหลดส่วนใหญ่จะคำนวณค่าสินสอดโดยใช้เกณฑ์เกี่ยวกับประเด็นส่วนตัวของผู้หญิง ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ทั้งยังคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ผู้หญิงที่จะสู่ขอ ตั้งครรภ์หรือมีบุตรก่อนแต่งหรือไม่ แต่งงานมากกว่า 1 ครั้งหรือไม่ มีภาระดูแลครอบครัวหรือไม่ หรือว่าเป็นเจ้าของกิจการ จากนั้นแอปจะคำนวณผลลัพธ์ออกมาโดยระบุว่าเป็นค่าสินสอดที่เหมาะสม

ปัญหาเรื่องการคำนวณค่าสินสอดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคู่แต่งงานที่เป็นชาวไทย เพราะชาวต่างชาติที่แต่งงานกับชาวไทยก็ต้องทำความเข้าใจธรรมเนียมดังกล่าวอย่างหนักไม่แพ้กัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ siam-legal ผู้ให้บริการคำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชาวต่างชาติที่ต้องการแต่งงานกับคนไทย มีการระบุว่าค่าสินสอดเป็นสิ่งที่เจ้าบ่าวต้องมอบให้ผู้ปกครองของเจ้าสาว เพื่อแสดงความขอบคุณที่เลี้ยงดูเจ้าสาวมาเป็นอย่างดี และเพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายชายมีฐานะมั่นคงพอที่จะดูแลเจ้าสาวต่อไปได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์สยาม-ลีกัล เตือนชาวตะวันตกที่ต้องการแต่งงานกับชาวไทยว่าการแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานกับคนไทย จึงควรจะหาข้อมูลและเจรจาข้อตกลงที่ชัดเจนเสียก่อน เพราะมีหลายกรณีที่ชาวต่างชาติถูกเรียกเงินค่าสินสอดจำนวนมาก จนไม่อาจเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดต้องจ่ายแพงถึงขนาดนั้น และเว็บไซต์สยาม-ลีกัลให้คำแนะนำว่าผู้หญิงที่เคยแต่งงานมาก่อนหรือมีบุตรแล้ว 'ไม่จำเป็น' ต้องให้ค่าสินสอดแพง 

SinSod.jpg

ราคาความรักในยุควัตถุนิยม

ธรรมเนียมการจ่ายค่าสินสอดในพิธีการแต่งงานแบบไทย เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็น 'พวกขุดทอง' หรือผู้ที่หวังเงินจากการแต่งงานกับชาวต่างชาติหรือคนที่ร่ำรวย โดยบทความแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่เคยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ coconuts (Bangkok) ระบุว่าชาวต่างชาติจำนวนมากมีปฏิกิริยาเชิงลบเมื่อได้ยินว่าต้องมีค่าสินสอดในพิธีแต่งงานกับคนไทย โดยบางคนมองว่าธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องล้าสมัยที่ควรจะหมดไปต้ังแต่ร้อยปีที่แล้ว หรือบางคนมองว่าการตั้งเงื่อนไขเรื่องเงินทองเพื่อนำไปสู่การแต่งงานเป็นเรื่องที่ทำให้ 'เสียความรู้สึก'

บทความ Why I’m worth it: in defense of the dowry ในเว็บไซต์โคโคนัท ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษ ระบุว่าค่าสินสอดเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ของฝ่ายผู้หญิง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่เก่าแก่ และเป็นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงถึงการยอมรับความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว 

Prae Sakaowan ผู้เขียนบทความดังกล่าว ระบุว่าการมอบสินสอดให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นสิ่งที่เจรจาต่อรองกันได้ เพราะบางครอบครัวอาจมีการตั้งมูลค่าสินสอดไว้สูงเกินจริง แต่ก็เป็นเพียงการล้อเล่น และหากเจ้าบ่าวแสดงความจริงใจก็สามารถพูดคุยกันได้ว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องการพิธีแต่งงานที่เหมาะสมกับทั้งสองครอบครัวอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ค่าสินสอดมักจะถูกส่งกลับคืนให้แก่คู่บ่าวสาวในฐานะ 'เงินขวัญถุง' ในการสร้างครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ข่าวว่าที่เจ้าบ่าวชาวต่างชาติไม่มีเงินจ่ายค่าสินสอด หรือกรณีฝ่ายหญิงหลอกลวงให้เจ้าบ่าวจ่ายค่าสินสอดเพื่อปอกลอกเงิน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน ทำให้ภาพลักษณ์ของการแต่งงานแบบไทยมีหลายด้านเมื่อมองจากมุมของผู้ที่อยู่ภายนอกกรอบสังคมหรือค่านิยม 'แบบไทยๆ

ปัญหา 'ค่าสินสอด' ในประเทศอื่นๆ 

ธรรมเนียมการจ่ายค่าสินสอดสามารถพบเห็นได้ในประเทศอื่นๆ แถบเอเชียเช่นกัน แต่ประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าสินสอดยิ่งกว่าไทยก็คือ 'อินเดีย' ซึ่งมีธรรมเนียมว่าผู้หญิงจะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินสอดให้แก่ผู้ชาย แต่การเรียกร้องค่าสินสอดจากผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกคุกคามและเลือกปฏิบัติอยู่แล้วในอินเดีย จึงยิ่งเป็นการสร้างแรงกดดันและผลักภาระทางสังคมให้ผู้หญิงต้องแบกรับหนักกว่าเดิม 

หลายกรณีพบว่าครอบครัวฝ่ายชายในอินเดียเรียกร้องค่าสินสอดราคาแพง ถึงขั้นข่มขู่ให้ฝ่ายหญิงจ่ายค่าสินสอด นำไปสู่การประทุษร้ายหรือกดดันจนฝ่ายหญิงฆ่าตัวตาย ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐของอินเดียต้องพิจารณาผลักดันกฎหมายกำกับดูแลการเรียกค่าสินสอด แต่ในหลายพื้นที่ก็ยังคงธรรมเนียมปฏิบัติเดิมต่อไป

หากมองจากสายตาของผู้ที่อยู่ในสังคมตะวันตกและกลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ การเรียกค่าสินสอดเป็นสิ่งหนึ่งที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เป็นฝ่ายรับค่าสินสอด ทำให้เกิดค่านิยมว่าบุคคลดังกล่าวเป็นสินค้าหรือเป็นวัตถุที่สามารถตั้งราคาและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ได้

ค่านิยมเรื่องสินสอดอาจทำให้หลายครอบครัวเลือกปฏิบัติกับลูกสาว โดยมองว่าเป็นเครื่องมือยกระดับหรือเพิ่มฐานะ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ล้าสมัยและไม่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันที่มีการรับรองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน