ไม่พบผลการค้นหา
ทนายเผยเหตุยกฟ้อง จำเลยไม่ได้มีเจตนาร่วมกระทำความผิด คำว่า "จ้า" บอกไม่ได้มีความหมายตายตัวแน่นอน ด้าน 'โรม' ส.ส.ก้าวไกล ย้ำ "ถ้าเห็นแก่อนาคตของสถาบันฯ ต้องไม่ปล่อยให้มาตรา 112 เป็นอยู่อย่างนี้

วันที่ 22 ธ.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดี ม.112 กรณี 'แม่จ่านิว' หรือ พัฒน์นรี (สงวนนามสกุล) ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน คสช. ได้ตอบแชทเฟซบุ๊ก ข้อความที่พนักงานสอบสวนอ้างหมิ่นสถาบันฯ ว่า "จ้า" เมือ 4 ปีที่แล้ว โดยศาลชี้ไม่มีเจตนากระทำผิด เพราะคำว่า "จ้า" อาจมีความหมายไม่อยากสนทนาต่อ

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ 'พัฒน์นรี' (สงวนนามสกุล) มารดา จำเลยในคดีที่อัยการเป็นโจกท์ยื่นฟ้องกระทำควาวผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เปิดเผยว่า จากกรณีที่พัฒน์นรีตอบแชทข้อความส่วนตัวที่คุยกับบุรินทร์ (สงวนนามสกุล) เพื่อนของลูกชาย ซึ่งถูกฟ้อง ม.112 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการแสดงคววามเห็นเพียงคำว่า "จ้า" ของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความที่พาดพิงถึงสถาบันหรือกล่าวให้ร้ายสถาบันฯ แต่อย่างใด

"ศาลบอกว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาร่วมกระทำความผิดหรือร่วมแสดงความคิดเห็นที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่โจทก์กล่าวหา" วิภาณีกล่าว

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าวอีกว่า ศาลบอกว่าคำว่า "จ้า" บอกไม่ได้มีความหมายตายตัวแน่นอน ดังนั้นควรพิจารณาเจตนาตามบริบทของการสนทนา ซึ่งในทางภาษาศาสตร์ อาจหมายถึงว่า ไม่ต้องการสนทนาต่อไปและอาจหมายถึงตอบสั้นๆ เพื่อจบการสนทนา และจำเลยก็ไม่มีการโต้ตอบข้อมูลอะไรอีก 

"บริบทการสนทนาของจำเลยกับคู่ ไม่ได้สนทนาโต้ตอบในทันที และคู่สนทนาก็สนทนาอยู่ฝ่ายเดียว 9 นาที กว่าจำเลยจะส่งข้อความจ่าคำเดียวและไม่มีการตอบโต้เพิ่มแต่อย่างใด" ทนายความ กล่าว

ด้าน พัฒน์นรี กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจที่ศาลให้ความเมตตาและให้ความเป็นธรรมต่อตัวเอง เพราะตนไม่ได้มีเจตนากระทำผิดอย่างที่โจทก์กล่าวหา

"คิดว่าเป็นคดีทางการเมืองเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ของลูกเมื่อช่วงปี 2559"

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวอาจยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากโจกท์จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายใน 30 เพื่อสู่คดีต่อหรือไม่ก็ได้

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุมาตรา 112 มีปัญหาอย่างร้ายแรง โดยยกกรณี 3 ตัวอย่าง ต่อไปนี้

อินทิรา เจริญปุระ (ทราย) เดินทางเข้ารายงานตัวที่ สน.บางเขน เมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม 2563) ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยในสำนวนของตำรวจพบว่าสิ่งที่คุณทรายได้กระทำการเองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดมีเพียงแค่การโพสต์ข้อความว่า "ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ", "กล้ามาก เลยนะเธอ", "ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว"

พัฒน์นรี มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) ถูกออกหมายจับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยตำรวจได้อ้างหลักฐานข้อความแชทส่วนตัวว่ามีคู่สนทนาทักมาด้วยข้อความที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แล้วคุณพัฒน์นรีตอบกลับไปแค่ว่า "จ้า" ไม่ยอมตำหนิติเตียน แม้ในวันนี้ (22 ธันวาคม 2563) ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่ก็ต้องสู้คดีมากว่า 4 ปีทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ถูกออกหมายจับเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ในข้อหาตามมาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ที่มีคนอื่นร่วมแชร์เกือบ 3 พันคน เบื้องต้นศาลให้ประกันตัวเพราะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทว่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 (วันนี้ของเมื่อ 4 ปีที่แล้ว) เป็นต้นมา ก็ได้สั่งขังโดยอ้างว่ามีการเย้ยหยันเจ้าพนักงาน และไม่เคยให้ประกันตัวอีก จนคุณจตุภัทร์ยอมสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว รวมระยะเวลาที่ถูกจองจำ 2 ปี 5 เดือน 7 วัน

"ผมขอถามคำถามง่ายๆ ว่าถ้าในภายภาคหน้ามีเด็กๆ ที่เขาเติบโตขึ้นมาและกำลังศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ได้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับเรื่องที่ไม่เป็นสาระเช่นนี้ แล้วจะให้พวกเขารู้สึกอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์? จะให้พวกเขายอมรับได้อย่างไรที่จะให้มีการดำเนินคดีอันแสนจะวิปริตผิดเพี้ยนนี้เกิดขึ้นต่อไป?"

"ถ้าเห็นแก่อนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ เราจะต้องไม่ปล่อยให้มาตรา 112 เป็นอยู่อย่างนี้อีกต่อไป"


แม่จ่านิว3.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :