ไม่พบผลการค้นหา
“พิชัย นริพทะพันธุ์” แนะ 4 ข้อเป็นแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ หลังส่งออกติดลบ 2 เดือนติด และค่าบาทแข็ง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค. 2561 ติดลบร้อยละ 1.7 ซึ่งติดลบติดกันเป็นเดือนที่ 2 และ ติดลบเป็นครั้งที่ 3 ของปี ทำให้การส่งออกทั้งปีเหลือเพียงร้อยละ 6.7 ต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ที่ร้อยละ 8 ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ว่าปีนี้ (62) การส่งออกก็ไม่น่าจะดีนัก ประกอบกับเศรษฐกิจในปีนี้ของประเทศจีนคู่ค้าสำคัญของไทย คาดว่าจะโตได้เพียงร้อยละ 6 ซึ่งจะต่ำสุดในรอบ 29 ปี อีกทั้งจีนยังคงต้องเผชิญกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ 

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งได้เคยเตือนและขอไว้แล้วว่าให้ชะลอไปก่อน โดยจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นหลังมีการเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจ และ ดำเนินการฟื้นการส่งออกและฟื้นฟูเศรษฐกิจดังนี้ 

1. เร่งการดำเนินการเจรจาเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ ทั้งพหุภาคี และ ทวิภาคี หลังจากที่รัฐบาลนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่ใช่รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตย หลายประเทศไม่เจรจาด้วย ทำให้ไทยเสียโอกาสอย่างมาก เพราะไทยส่งออกผ่านเขตการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะการส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากถึงการลงทุนจากต่างประเทศด้วยเพราะนักลงทุนต่างประเทศไม่แน่ใจว่า ถ้ามาลงทุนในประเทศไทยจะโดนเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงย้ายไปลงทุนประเทศอื่น ซึ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยหายไปอย่างมากตลอดเกือบ 5 ปีนี้ โดยจะส่งผลถึงการส่งออกของไทยในอนาคตด้วย

2. เร่งสอบถามและเร่งรัดให้บริษัทต่างๆ ที่ขอส่งเสริมการลงทุนค้างไว้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะมียอดการลงทุนค้างอยู่เป็นล้านล้านบาท ให้เริ่มลงทุน (ถ้าหากบริษัทเหล่านั้นยังไม่ได้ย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นแล้ว) โดยเสนอให้ความสะดวกและให้การสนับสนุนในทุกด้าน 

3. เร่งเจรจากับนักลงทุนต่างประเทศจากประเทศที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น อียู สหรัฐ ฯลฯ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วและพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุน อีกทั้งแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ จากดัชนีความสะดวกในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลนี้ 

4. ขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาอย่าเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากจะมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยอยากเห็นค่าเงินบาทที่อ่อน เพื่อสนับสนุนการส่งออก ในภาวะที่ประเทศไทยต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำกันต่อเนื่องมาหลายปีติดกัน 

นี่เป็นเพียงบางมาตรการเริ่มต้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ทรุดหนักมาหลายปี โดยมุ่งเน้นการฟื้นส่งออกและการฟื้นฟูการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นปัญหามาตลอดหลังการปฏิวัติ และอยากให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งพิจารณานำไปใช้ปฏิบัติไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แต่หากเป็นรัฐบาลเดิมกลับมาบริหารประเทศอีก อาจจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นความมั่นใจได้ ทั้งนี้จะนำเสนอแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง