นายเอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ ตัวแทนกลุ่มโรงน้ำชา (Togetherness for Equality and Action -TEA) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลายทางเพศ อ่านจดหมายเปิดผนึกในระหว่างการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ... ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย เรียกร้องให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะมีเนื้อหาเลือกปฏิบัติ และไม่สามารถให้หลักประกันว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาค รวมทั้ง กระบวนการเสนอร่างกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ ต้องยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงควรให้ได้รับการพิจารณาจากผู้แทนของประชาชนที่มาตามระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ตามหลักการสากลว่าด้วยเรื่องการไม่เลือกปฎิบัติและความเสมอภาค รัฐต้องดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ทุกเพศไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศแบบใด สามารถเข้าถึงกฎหมายการสมรสได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ออกกฎหมายมาเป็นการเฉพาะกลุ่ม จนอาจถูกมองว่าเป็น 'การสงเคราะห์' มากกว่า 'การส่งเสริมความเท่าเทียม' เพราะนั่นอาจกลายเป็นการตีตราซ้ำ
ด้าน นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต เริ่มที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา และจะเปิดเวทีขึ้นในส่วนภูมิภาคที่ จ.พระนครศรีอุยธยา, เชียงใหม่, สงขลา และขอนแก่น นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ www.rlpd.go.th จนถึงวันที่ 20 พ.ย.นี้ จากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะรวบรวมความคิดเห็น เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร่างกฎหมาย ภายในเดือน พ.ย. นี้ (2561)
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ร่างกฎหมายจะออกทันรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจาก กระบวนการแต่ละขั้นตอนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในกฎหมาย แต่คณะทำงานจะพยายามผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. เนื่องจาก หากถึงชั้นนี้แล้ว ก็มีโอกาสจะได้รับการประกาศเป็นกฎหมาย ไม่ว่าใครหรือฝ่ายใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล
สาระสำคัญของ 'ร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต' ประกอบได้ด้วย 7 หมวด รวม 70 มาตรา เน้นไปที่ หลักเกณฑ์-วิธีการจดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น จะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว, ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือศาลสั่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ, ห้ามบุคคลที่เป็นญาติสืบสายโลหิตจะทะเบียนคู่ชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต เช่น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นคนไร้ความสามารถ อีกฝ่ายสามารถเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้ ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต ซึ่งยกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เปลี่ยนจากคำว่า 'คู่สมรส' เป็น 'คู่ชีวิต' และการจัดการมรดกของคู่ชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดนิยามให้คำว่า 'คู่ชีวิต' ด้วย ซึ่งหมายความว่า "บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนในพระราชบัญญัติฉบับนี้" นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายจะให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศ และจะส่งผลไปถึงกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ฉบับอื่นๆ ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง