ไม่พบผลการค้นหา
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังทำได้ยาก

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ กรณีข่าวทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ ที่เริ่มมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุจริตโครงการเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เงินเบี้ยเลี้ยงตำรวจตระเวนชายแดน เงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และโครงการอบรมวิชาชีพผู้ติดยาเสพติด จ.กาญจนบุรี ถึงความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นประชาชน กรณีข่าวทุจริตคอร์รัปชัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ หรือ 44.22 เปอร์เซนต์ ระบุว่า เป็นปัญหาใหญ่ มีมานานทุกยุคทุกสมัย สร้างความเสียหายต่อประเทศ รองลงงมา 28.67 เปอร์เซนต์ ระบุว่า อยากให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ รื้อระบบภาครัฐครั้งใหญ่ 19.00 เปอร์เซนต์ ระบุว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี กระทบต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของรัฐบาล 12.67 เปอร์เซนต์ ระบุ กฎหมายอ่อนแอ มีช่องโหว่ ทำให้เกิดการทุจริต และ 8.00 เปอร์เซนต์ ระบุว่า สื่อมวลชนควรนำเสนอข่างอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา

ส่วนสาเหตุของการทุจริต ประชาชนส่วนใหญ่ 68.57 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ความโลภ ละโมบ เห็นแก่ตัว ขาดจิตสำนึก รองลงมา 26.72 เปอร์เซนต์ ระบุ การใช้อำนาจหน้าที่เอารัดเอาเปรียบ 19.29 เปอร์เซนต์ ระบุ ระบบการตรวจสอบ ติดตาม ไม่เข้มแข็ง 12.93 เปอร์เซนต์ ระบุ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาที่ตกต่ำ และ 5.17 เปอร์เซนต์ ระบุ ถูกชักจูง โน้มน้าว ทำตามพวกพ้อง

สำหรับแนวทางป้องกันปัญหาการทุจริต ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ 35.81 เปอร์เซนต์ ระบุ ต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ 35.42 เปอร์เซนต์ ระบุ มีระบบการตรวจสอบที่ละเอียด เข้มงวด รัดกุม 32.10 เปอร์เซนต์ ระบุ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี 22.38 เปอร์เซนต์ ระบุ เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่สองมาตรฐาน และ 14.45 เปอร์เซนต์ ประชาชนร่วมมือกัน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ 40.97 เปอร์เซนต์ มองว่าข่าวการทุจริต ณ วันนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก เพราะ กระทบต่อภาพลักษณ์ ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าเป็นการปกป้องพวกพ้อง รู้สึกผิดหวัง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ฯลฯ รองลงมา 22.13 เปอร์เซนต์ มองว่าค่อนข้างมีผล เพราะ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ 21.26 เปอร์เซนต์ มองว่า ไม่ค่อยมีผล เพราะ การทุจริตเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก มีมานาน ทุกรัฐบาลประสบปัญหา ไม่คาดหวังกับการแก้ปัญหาการทุจริตอยู่แล้ว ฯลฯ และ 15.64 เปอร์เซนต์ มองว่า ไม่มีผล เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล นายกฯ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ 56.61 เปอร์เซนต์ คิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาการทุจริต ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดได้ เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ พวกพ้อง และผู้มีอิทธิพล แก้ไขได้ยาก เป็นปัญหาเรื้อรัง ฯลฯ ส่วน 23.42 เปอร์เซนต์ ไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาการทุจริตได้ เพราะ ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง และต้องติดตามต่อไป ฯลฯ ขณะที่มีเพียง 19.97 เปอร์เซนต์ ที่เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาการทุจริต ได้ เพราะ รัฐบาล คสช. มีอำนาจพิเศษ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และเป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 1)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 62.32 เปอร์เซนต์ ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ เพราะ อยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า และถ้าพรรคการเมืองเก่าเข้ามาก็จะทำให้เป็นแบบเดิมอีก และ 37.68 เปอร์เซนต์ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะ มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ชอบการบริหารงานแบบเก่าๆ บริหารงาน ดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จัก คุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 38.64 เปอร์เซนต์ รองลงมา อันดับ 2 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) 13.04 เปอร์เซนต์ อันดับ 3 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) 12.24 เปอร์เซนต์ อันดับ 4 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่) 6.88 เปอร์เซนต์ อันดับ 5 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) 5.84 เปอร์เซนต์ และพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน

อันดับ 6 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) 5.12 เปอร์เซนต์ อันดับ 7 ระบุว่าเป็น นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 4.96 เปอร์เซนต์ อันดับ 8 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) 2.88 เปอร์เซนต์ อันดับ 9 ระบุว่าเป็น นายปิยบุตร แสงกนกกุล (พรรคอนาคตใหม่) 1.52 เปอร์เซนต์และอันดับ 10 ระบุว่าเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ประธานมูลนิธิกปปส.) 0.72 เปอร์เซนต์