แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่ความลึกใต้ดินราว 15 กิโลเมตร ทางเหนือของเกาะลอมบอก และแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ไกลถึงเกาะบาหลีที่อยู่ห่างออกไปราว 150 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย แต่สถิติอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก และต้องรอการสรุปผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากบนเกาะลอมบอกซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ต่างก็อพยพมานอกอาคารที่พักอาศัย เพื่อให้สถานการณ์สงบลง เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงกว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 แมกนิจูดใกล้ภูเขาไฟรินจานี ทางเหนือของเกาะลอมบอก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บอีกนับสิบราย และมีผู้ตกค้างอยู่บนภูเขาไฟรินจานีหลายร้อยคน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียประเมินว่าอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก พร้อมประกาศเตือนประชาชนเฝ้าระวังอย่าอยู่ใกล้โครงสร้างอาคารที่อ่อนแอ ไม่ถูกหลักวิศวกรรม เพราะอาจเกิดถล่มทับจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลในเมืองมาตารัม เมืองเอกของเกาะลอมบอก ถึงกับต้องนำเตียงผู้ป่วยออกมาด้านนอกอาคาร เพราะอาคารสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และเกรงว่าจะกระทบกระเทือนผู้ป่วย
ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่าแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนเกาะลอมบอกทำให้เกิดความเสียหายไปถึงสนามบินนานาชาติบนเกาะบาหลี แต่ยังไม่มีสื่อใดยืนยันข้อมูลดังกล่าว
ด้านคริสซี หรือคริสทีน ทีเกน นางแบบและภรรยาของนักร้องชื่อดังอย่าง 'จอห์น เลเจนด์' ซึ่งเดินทางมาพักผ่อนที่บาหลี ทวีตข้อความ เมื่อเวลา 19.19 น. ตามเวลาท้องถิ่นอินโดนีเซีย ระบุว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง
ขณะที่เฟซบุ๊กของสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกไทย ณ กรุงจาการ์ตา ระบุว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหม่บนเกาะลอมบอก เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 19.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) แต่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และนักเรียนปอเนาะชาวไทย 16 คนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ปลอดภัยดี
อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้นักท่องเที่ยวชาวไทยในพื้นที่ใช้ความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชายฝั่งและและพื้นที่ทางทะเล โดยตรวจสอบและติดตามข่าวสารจากทางการอินโดนีเซียอย่างสม่ำเสมอ และสามารถติดต่อหมายเลขฉุกเฉินของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองเดนปาซาร์ +62 813 37316669 และหมายเลขฉุกเฉินของสถานทูตฯ +62 811 186253 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: ABC/ BBC/ Channel News Asia/ USGS
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: