ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยตั้งคำถามรัฐจัดระเบียบหาบเร่ พร้อมขึ้นค่าจ้างชดเชยการสูญเสียแหล่งของกินราคาถูกหรือไม่ พร้อมเพิ่มหูตาตำรวจจับเหตุพิรุธบนท้องถนนแทนแม่ค้าหรือไม่ พร้อมช่วยผู้ค้าที่มีรายได้ลดลงหรือไม่

สำนักข่าวออนไลน์ Asian Correspondent เผยแพร่บทความของคณะนักวิจัยที่ศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมของหาบเร่แผงลอยหลังจากกรุงเทพมหานครดำเนินนโยบายจัดระเบียบทางเท้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้าและสมาชิกในครัวเรือน รวมถึงชาวเมืองที่มีฐานะระดับกลางลงไป

บทความ ระบุว่า หาบเร่แผงลอยที่ขายของกินของใช้ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนนับแสนราย กรุงเทพมหานครได้เริ่มจัดระเบียบทางเท้าตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการยกเลิกจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอยจำนวนมาก ยกเว้นในย่านท่องเที่ยว เช่น ถนนเยาวราช ถนนข้าวสาร

ทีมวิจัยบอกว่า หาบเร่แผงลอยซึ่งเรียกรวมๆว่า สตรีทฟู้ด มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงเทพฯใน 3 ด้าน

หนึ่ง เป็นแหล่งของกินของใช้ราคาถูก โดยเฉพาะสำหรับคนชั้นล่าง

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาผู้บริโภคในพื้นที่ชั้นใน 4 เขตของกทม. พบว่า คนกรุงเทพฯ ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ นักศึกษา ไปจนถึงคนหาเช้ากินค่ำ ต่างฝากท้องไว้กับสตรีทฟู้ด  

คนเหล่านี้เกือบ 90 เปอร์เซนต์ ซื้ออาหารริมทาง คน 65 เปอร์เซนต์ซื้อบ่อยตั้งแต่สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป และเกือบ 30 เปอร์เซนต์ซื้อทุกวัน

ในกลุ่มคนที่ซื้อทุกวันนั้น กว่า 60 เปอร์เซนต์มีรายได้เดือนละไม่ถึง 9,000 บาท

อาจารย์นฤมลพบด้วยว่า ของกินตามฟู้ดคอร์ท ซึ่งเป็นแหล่งอาหารราคาถูกถัดจากสตรีทฟู้ด มีราคาสูงกว่าหาบเร่จานละประมาณ 15 บาท จึงไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับคนในระดับกินค่าแรงรายวัน

ดังนั้น การกำจัดหาบเร่แผงลอย ทำให้คนจำนวนมากสูญเสียแหล่งของถูก ส่งผลให้เกิดเสียงร้องขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากต้องซื้อของกินของใช้จากแหล่งที่ขายแพงกว่า

สอง หาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพสร้างรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี ผู้สูงวัย และคนมีการศึกษาน้อย และช่วยเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว

อาจารย์นฤมลพบว่า ผู้ค้ากว่า 70 เปอร์เซนต์เป็นผู้หญิง กว่า 70 เปอร์เซนต์มีอายุเกิน 40 ปี และกว่า 40 เปอร์เซนต์เรียนจบแค่ชั้นประถม

ที่สำคัญ เกือบ 90 เปอร์เซนต์ยึดอาชีพขายของเป็นแหล่งรายได้หลักของครัวเรือน ผู้ค้าที่ต้องหาเลี้ยงสมาชิกในบ้านตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป มีสัดส่วน 1 ในสี่

ผลวิจัยพบอีกว่า การให้หาบเร่แผงลอยย้ายจากจุดตั้งร้านเดิม ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก

สาม หาบเร่แผงลอยช่วยเป็นหูเป็นตาในพื้นที่สาธารณะ

กรุงเทพมหานครอ้างเหตุผลในการจัดระเบียบ ว่า เป็นเพราะผู้ค้ากีดขวางการเดินเท้า

แต่ผลวิจัยพบว่า ในมุมมองของคนเดินเท้า สิ่งกีดขวางที่นึกถึงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่หาบเร่แผงลอย แต่เป็นพวกสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา และบาทวิถีที่ไม่ราบเรียบ

คนเดินเท้าเลือกที่จะเดินไปซื้อของกินของใช้ กับข้าว อาหารจานเดียว จากร้านรถเข็นซึ่งอยู่ใกล้ๆ มากกว่าเลือกที่จะขับรถไปตลาดหรือไปฟู้ดคอร์ท

นอกจากเป็นแหล่งสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายแล้ว พ่อค้าแม่ค้าบนบาทวิถียังมีบทบาทอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ แจ้งเหตุผิดปกติแก่เจ้าหน้าที่

งานวิจัยได้ตั้งคำถามต่อนโยบายจัดระเบียบทางเท้า 3 ข้อ คือ ภาครัฐและเอกชนควรขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เพราะไม่มีแหล่งของกินราคาถูกเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ทางการควรเพิ่มกำลังตรวจตราความปลอดภัยตามท้องถนนที่ปราศจากหาบเร่แผงลอยไหม และทางการควรช่วยเหลือผู้ค้าที่มีรายได้ลดลงอย่างไร.     

ภาพ: AFP