ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมการค้ายาสูบไทยเผยผลสำรวจนิด้าโพล ชี้ 6 เดือนหลังใช้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบสร้างภาระ-ไม่ช่วยลดนักสูบ ฟากเอเยนต์โรงงานยาสูบช้ำหนัก ยอดขายตก 70% หลังประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่มานาน 5 เดือน

สมาคมการค้ายาสูบไทยเผยผลสำรวจนิด้าโพล เรื่องความคิดเห็นของร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ที่ขายบุหรี่จำนวน 1,000 ร้านทั่วประเทศต่อประเด็นผลกระทบจากกฎหมายยาสูบใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ครบ 6 เดือนในต้นเดือนมีนาคมนี้ บ่งชี้ว่า เกินครึ่งไม่สามารถช่วยลดนักสูบได้ อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และสร้างภาระเพิ่มขึ้นให้กับร้านค้าขนาดเล็ก หวังกฎหมายลูกที่จะออกมาไม่สร้างผลกระทบเพิ่มเติมอีก

สมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ที่ขายบุหรี่ทั่วประเทศ 1,000 ราย เผยผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับผลกระทบจาก 'พ.ร.บ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ' ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 และในเดือนมีนาคม 2561 นี้จะครบกำหนดการบังคับใช้ 6 เดือนแรก 

ผลสำรวจชี้ว่า 52% เห็นว่ามาตรการใหม่ต่างๆ นั้นไม่สามารถช่วยลดจำนวนผู้สูบได้ โดยเหตุผล 3 อันดับแรกคือ 

1. ผู้บริโภคยังมีความต้องการสูบเท่าเดิม 

2. คนเปลี่ยนไปสูบยาเส้นหรือบุหรี่นอกแทนเพราะมีราคาถูกกว่า 

3. พ.ร.บ. เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

อีกทั้ง 63% ของร้านค้ามองว่าธุรกิจของตนได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยมาตรการใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบ อาทิ ห้ามแบ่งขาย (ต้องขายทั้งซอง) ห้ามตั้งโชว์หรือแสดงผลิตภัณฑ์ ณ จุดขาย พร้อมกับกำหนดให้เป็น 'ซองเรียบ' โดยซองบุหรี่ทุกยี่ห้อต้องใช้สีเดียวกันหมดและห้ามพิมพ์โลโก้หรือเครื่องหมายการค้าใดๆ

โพลสมาคมยาสูบไทย

สำหรับ Top 5 ปัญหาเรื่องผลกระทบจากกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ ได้แก่

1. สร้างภาระเพิ่มขึ้นกับร้านค้าในการบริหารจัดการ

2. กระทบต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ยาสูบของร้าน

3. กฎหมายขาดความชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่าสิ่งใด ทำได้หรือไม่ได้

4. การเข้าตรวจโดยเจ้าหน้าที่หรือความเสี่ยงจากการถูกเจ้าหน้าที่กุม

5. ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบที่อาจมีการบังคับใช้เพิ่มในอนาคต 

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่าขณะนี้ ร้านค้าค่อยๆ ปรับตัวในมาตรการที่ทำได้ ส่วนมาตรการที่ออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็ต้องรับสภาพกันไป แม้จะไม่ได้ส่งผลในเรื่องประสิทธิภาพลดจำนวนคนสูบ เช่น ห้ามแบ่งขายซึ่งมีผลต่อรายได้ของร้านค้า และเดือน มี.ค.นี้ ก็จะครบกำหนด 6 เดือนของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ และจะต้องมีการทำกฎหมายลูกออกมาภายใน 12 เดือน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่มีกว่า 11 ล้านคน ฉะนั้น มาตรการควบคุมใหม่ๆ รวมทั้งกฎหมายลูกที่จะออกมาจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการช่วยลดว่าทำได้จริงตามอ้างหรือไม่ นอกจากนี้ควรจะคำนึงถึงผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องและภาระที่จะเพิ่มขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและสภาพเศรษฐกิจด้วย

ขณะที่ นางมุทิตา การุญวฤทธิ์ รองเลขาธิการ สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ กล่าวว่า นอกจาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 จะมีผลต่อการทำธุรกิจค้าบุหรี่ หรือ ยาสูบแล้ว กฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต 2560 ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้าส่งยาสูบของโรงงานยาสูบเช่นกัน โดยนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน พบว่า ส่งผลต่อยอดขายให้ลดลงกว่า 70% ทั้งที่ ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาด 70,000 ล้านบาท

"สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ เคยยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 แต่จนถึงขณะนี้ ผ่านมากว่า 2 เดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ผู้ค้าขายส่งกลับได้รับผลกระทบ ยอดขายตกลงเยอะมากเป็นประวัติการณ์" นางมุทิตา กล่าว

พร้อมกับยืนยันว่า กฎกระทรวง เรื่องอัตราภาษีสรรพสามิต 2560 ไม่ได้เพียงทำลายธุรกิจยาสูบภายในประเทศเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาสกัดผู้สูบหน้าใหม่ได้เช่นกัน เพราะร้านค้าปลีกไม่ได้ลดจำนวนการขาย เนื่องจากบุหรี่แบรนด์นอกมีโปรโมชั่นสนับสนุนทางการตลาดหลายอย่าง เพื่อจูงใจผู้ค้าปลีกให้ทำยอดขายบุหรี่นอก พร้อมกันนี้ผู้สูบก็นิยมของต่างประเทศ ในราคาที่เทียบเท่ากับบุหรี่ไทย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการซ้ำเติมโรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และผู้ค้าขายส่งบุหรี่ไทย 

"บุหรี่เป็นตัวนำของสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าปลีก และถึงตอนนี้ ก็เกิดความระส่ำระสายไปทั่วในกลุ่มผู้ค้า ทั้งค้าส่งค้าปลีกจากกฎหมายสรรพสามิตฉบับล่าสุด โรงงานยาสูบก็ไม่สามารถช่วยได้ เราก็ไม่รู้จะโทษใครได้ ร้านโชห่วยเขาก็ขายบุหรี่นอกมากกว่า แต่เราก็เข้าใจรัฐว่าต้องการควบคุมดูแลสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งถึงวันนี้ บอกตรงๆ ว่า เขาแก้ปัญหานั้นไม่ได้ แต่กลับเพิ่มอีกปัญหาคือ การทำลายบุหรี่ในประเทศ และเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศมากกว่า เรื่องของผู้ค้าด้วยซ้ำ" นางมุทิตา กล่าว 

อ่านเพิ่มเติม : สหภาพยาสูบ ยื่นศาลปกครองฟ้อง ก.คลัง