ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงมหาดไทยกัมพูชายอมรับว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีไว้ "ขู่ประชาชน" หลังจากนักสิทธิมนุษยชนกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุน เซน

โฆษกกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา เปิดเผยกับสำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชีย ของสิงคโปร์ ถึงการที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการเสนอกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวมีไว้ขู่ประชาชนให้เกรงกลัว เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมไม่อยากถูกจำคุก พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่าการมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์

ด้านโฆษกกระทรวงยุติธรรมของกัมพูชา ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชาควรจะมีกฎหมายฉบับนี้มานานมากแล้ว เนื่องจากแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่กลับไม่มีกฎหมายอาญาลงโทษผู้ที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ จึงต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้ครอบคลุมถึงการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์ด้วย โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่โซเชียลมีเดียทำให้เกิดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินเลยขอบเขต ไร้การควบคุม และไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ 

ทั้งนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกัมพูชา ผู้ที่ทำผิดจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับไม่เกิน 79,000 บาท ส่วนกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ผู้กระทำผิดจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี โดยสำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชีย ยังรายงานด้วยว่าไทยมีกฎหมายหมิ่นฯที่รุนแรงที่สุดในโลก และนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2014 เป็นต้นมา ก็มีการดำเนินคดีกับประชาชนด้วยกฎหมายนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการวิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารใช้กฎหมายดังกล่าวในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนในกัมพูชาตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่าการประกาศใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกัมพูชา เป็นการใช้กฎหมายข่มขู่และปิดปากผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกตีความให้ครอบคลุมถึงการหมิ่นนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์

หลังจากรัฐบาลเห็นชอบในการเพิ่มมาตรากว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญา ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาจากรัฐสภา ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่ากฎหมายจะผ่านการเห็นชอบจากสภา เนื่องจากพรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ โดยกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทำให้ค่อนข้างชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกใช้อย่างกว้างขวางในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาถูกวิจารณ์อย่างหนักกรณีที่มีการดำเนินคดีกับนายเกิม เสิกขา ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยสั่งจำคุกเขาในข้อหากบฏ สมคบคิดกับสหรัฐฯบ่อนทำลายรัฐบาล และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลกัมพูชายังสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ หรือ CNRP พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สมาชิกพรรคถูกแบนจากการเมือง 5 ปี ทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง พรรค CPP ของนายฮุน เซน จะลงเลือกตั้งอย่างไร้คู่แข่ง จนทำให้นักการทูตอาวุโสในกัมพูชากล่าวว่า คำตัดสินนี้จะทำให้ไม่มีฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือในกัมพูชาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยสหประชาชาติ ทำให้เกิดรัฐบาลผสมระหว่างเจ้านโรดมรณฤทธิ์ และนายฮุน เซน