วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจ
'ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์' จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลวิจัยหัวข้อ "การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดบกพร่อง" ให้ความเห็นว่า หากงานที่ทำซึ่งเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ประสบความสำเร็จจะช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระค่าใช้จ่าย และยังช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เกิดการจ้างงาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติได้
ในทำนองเดียวกัน 'ผศ. ภกญ. ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์' จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลวิจัยหัวข้อ "การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด" ชี้ว่าในอนาคตหากผลวิจัยประสบความสำเร็จ โอกาสที่ไทยจะพัฒนายาต้านมะเร็งได้เอง ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อคนไข้ที่ไม่ต้องแบกภาระค่ายาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยังสามารถสร้างโอกาสในการส่งออก
ฝั่ง 'ดร. วิรัลดา ภูตะคาม' จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ "การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิณ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน" พูดถึงกรณีที่ปะการังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับล้านล้านบาท หากเราสามารถอนุรักษ์ปะการังไว้ได้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวมถึงประมงก็จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ 'ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ' จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัยหัวข้อ "การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า" กล่าวว่างานวิจัยที่ทำมุ่งเน้นในเรื่องการผลิตยาและเครื่องสำอาง ดังนั้นจึงสามารถส่งผลกระทบในเชิงบวกกับเศรษฐกิจได้โดยตรงทั้งในด้านความสามารถในการผลิตและจำหน่ายยารวมถึงเครื่องสำอาง
ส่วน 'ผศ. ดร. สุรภา เทียมจรัส' จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ "ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย" ปิดท้ายว่าแทนที่จะต้องนำเงินหลายพันหลายหมื่นล้านเอาไปแลกกับเครื่องบินหนึ่งลำ แต่ถ้าประเทศไทยสามารถสร้างเครื่องบินเองได้ ก็ย่อมดีกว่า ดังนั้น การพัฒนาและส่งเสริมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็คือ การเตรียมเครื่องมือสำหรับสร้างเครื่องบิน
ช่องโหว่วิทย์ไทยที่รั้งความสามารถในการแข่งขันและเติบโต
สตรีนักวิจัยทั้ง 5 คนให้ความเห็นสอดคล้องกันกัน และย้ำถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ หากเทียบสัดส่วนความช่วยเหลือจากภาครัฐกับประเทศอื่นๆ แล้วสัดส่วนความช่วยเหลือด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและไม่เพียงพอ
ในคำถามนี้ ดร. วิรัลดา เสริมว่าควรให้ความสำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์กับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อทำให้เด็กหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่สนใจเพียงแต่วิชาแพทย์ หรือวิศวกรรม เพราะวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง
ทางด้าน ผศ. ดร. สุรภา เสริมว่ารัฐบาลควรลงทุนในการให้การศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในทุกภาคส่วน ไม่ใช่สนับสนุนให้ประเทศมีคนเก่งแค่กลุ่มเดียว หากสามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถทำให้ใช้ศักยภาพและทรัพยากรจากภายในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติทุกครั้ง ก็จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของไทยได้ด้วย
"เก่งในประเทศ เก่งเป็นคนๆ ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราสามารถรวมพลังกัน ร่วมมือกัน แล้วก็ทำ เราถึงจะสู้ต่างชาติได้" ผศ. ดร. สุรภา กล่าว