ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 เหตุเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ประเมินไว้ แต่ต้องจับตาดอกเบี้ยแท้จริงต่ำนาน ส่งผลนักลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำ ฟากนักวิเคราะห์กรุงไทยคาด กนง. เสียงแตก ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปี

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 19 ก.ย. 2561 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี

โดยในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน

คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 

ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) 

อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่อง จับตามนโยบายการค้าสหรัฐ-จีนกด 'ส่งออก'

สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงบ้างจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทย ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบได้บางส่วน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามปัจจัยสนับสนุนจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย ส่าหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังไทย แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจประกาศเพิ่มเติมและมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม แต่ยังมีความเสี่ยงต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมค่อนข้างทรงตัว 

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่ำนาน หวั่นนักลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน นับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ 

ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (under-pricing of risks)

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งให้ติดตามภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่ ตลอดจนพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป 

รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง

ธนบัตร.jpg

กนง. เสียงแตก สะท้อนแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ในการประชุมวันนี้ (19 ก.ย.) สะท้อนว่าเป็นการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอย่างชัดเจน 

เมื่อพิจารณาจากข้อความเพิ่มเติมในผลการประชุมคราวนี้ที่ระบุว่า "แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง" ซึ่งไม่มีในการประชุมครั้งก่อน ทำให้ทาง Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือน ธ.ค. 2561 นี้ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี

กนง. ตรึงดอกเบี้ยนโยบายมานาน 3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ เม.ย. 2558 และดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งสุดท้ายคือช่วงปี 2553-2554 ดังนั้นการส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนมีการเตรียมตัวก่อนจึงจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มกระจายตัวที่ดีขึ้นในระยะหลัง 

ขณะที่ ปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการที่สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าจากจีนระลอกใหม่กับสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. นี้ ที่จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญ และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนของตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการส่งออกลดลง

สำหรับในปีหน้า คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ และมีเสถียรภาพทางการเงินที่ดี ทำให้แรงกดดันของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงคาดว่า กนง.จะรอดูผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบึ้ยในเดือน ธ.ค. 2561 และเว้นช่วงก่อนจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2562