นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยชายหาดที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ หาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร, ทะเลแหวก หาดต้นไทร (เกาะพีพี) จังหวัดกระบี่, หาดในหาน จังหวัดภูเก็ต, และอ่าวไผ่ (เกาะเสม็ด) จังหวัดระยอง แต่ก็ยังพบปัญหาคุณภาพน้ำชายหาดท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีนโยบายที่จะควบคุมการระบายน้ำเสียจากสถานประกอบการบริเวณชายหาดท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยวชายหาด รวมทั้งเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำทะเลให้มีคุณภาพที่ดี มีภูมิทัศน์สวยงามเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
โดย กรมควบคุมมลพิษได้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, เมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ ภายใต้โครงการ "ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว"
เพื่อดำเนินกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสียจากกิจกรรมของตนเอง 2) การให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ และ 3) การบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้เปิดตัวโครงการ "ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว" ใน 2 พื้นทื่ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบนโยบายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียชายหาดท่องเที่ยว และที่เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง คพ. ได้ดำเนินการจัดอบรม เรื่อง การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาดมีความตระหนักและตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมทั้งส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดมลพิษมีการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพและเดินระบบอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ชายหาด และเพื่อซักซ้อมแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวในการกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกับมีแผนขยายผลการดำเนินการในอีก 2 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ รวมทั้งตรวจบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจะดำเนินการในพื้นที่นำร่องอื่นเป็นอันดับต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง :