นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เห็นด้วย ในหลักการที่ประเทศไทยควรจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อวางเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศคล้ายๆกับเป็นวิสัยทัศน์แห่งชาติ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศส่วนใหญ่ก็มีแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ประเด็นปัญหาที่ควรจะ ถกแถลงกันในขณะนี้หลังจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณานั้น ควรจะถกกันถึงเนื้อหาสาระว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนอย่างไรและจะปรับแก้อย่างไรให้สมบูรณ์ แต่ข้อท้วงติงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่น่าสนใจก็คือการมีส่วนร่วมของสังคมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติน้อยไปหรือเขียนโดยคนไม่กี่คน ฉะนั้นในขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของ สนช. ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกันมีความพยายามของบางฝ่ายที่จะสร้างความสับสนให้กับสังคมว่าไม่จำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือถึงขั้นโจมตีว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนั้น โดยส่วนตัวตนคิดว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้นและถ้าในหลักการเราเห็นความจำเป็นของการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติควรจะอ่านเนื้อหาสาระเสียก่อนแล้วมาดูกันว่าต้องปรับแก้เพิ่มเติมตรงไหน อย่างไร
"น่าเสียดายนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอาจจะไม่ชอบและรังเกียจแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะอำนาจที่เขากำลังจะแย่งชิงจากการเลือกตั้งจะถูกตัดตอนและถูกแบ่งปันไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติจนใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา"
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ชาติ สนช. จะพิจารณาปรับปรุงและส่งร่างดังกล่าวให้ สนช. พิจารณาภายในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะประกาศใช้ และร่างแผนแม่บทตามยุทธศาตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติตามต่อไป