เฟชบุ๊กเพจ Slum Homestay Mumbai บอกว่า “คุณจะได้พักในห้องส่วนตัว สามารถเข้าพักได้สูงสุด 2 คน และสามารถใช้ห้องครัว ห้องนั่งเล่นของบ้านได้ ซึ่งคุณจะได้อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวท้องถิ่น ห้องอาบน้ำจะใช้ร่วมกันกับครอบครัวเจ้าของบ้าน และห้องสุขาจะใช้ร่วมกันกับคนในชุมชน" นี่คือคำโฆษณาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนแออัดของนครมุมไบ ประเทศอินเดีย
เดวิด ไบล์ ชาวเนเธอร์แลนด์ที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในนครมุมไบ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของมุมไบคือชุมชนแออัด หรือ 'สลัม' ซึ่งกินพื้นที่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเมือง และมีประชากรกว่า 20 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนแออัดเหล่านี้ และนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เหลื่อมล้ำของคนในเมือง ก็สามารถเข้ารับบริการของโรงแรมสลัม 'Slum Hotel' ซึ่งเป็นบริการห้องพักในย่านชุมชนแออัดได้โดยตรง
ระวี สันศรี ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดดาราวีของนครมุมไบ ร่วมมือกับไบล์ เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงแรมสลัม หรือ 'สลัม โฮเท็ล' โดยคิดค่าใช้จ่ายแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าพักกับครอบครัวสันศรีคืนละ 2,000 รูปี หรือประมาณ 850 บาท ซึ่งภายในห้องพักจะมีแอร์ มีทีวีจอแบน รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวให้พร้อม
อาซิม เชคห์ ผู้จัดการทัวร์และการท่องเที่ยวในชุมชนแออัดดาราวีของมุมไบ กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า ย่านดาราวีมีอาณาเขตกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของชุมชนภายในระยะเวลา 11 ปี แต่การท่องเที่ยวในลักษณะนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้คนลบภาพความสกปรก อาชญากรรม และความเลวร้ายของชุมชนแออัดออกไป และทำให้ทุกคนได้สัมผัสวิถีชีวิต ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม จ็อกกิ้น อาภูธรรม ประธานองค์กรชุมชนแออัดระหว่างประเทศ กล่าวว่า "การทำทัวร์แบบนี้ไม่ได้ช่วยให้คนเข้าใจผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการปฏิบัติกับคนที่อยู่อาศัยในชุมชนไม่ต่างกับวัตถุในพิพิธภัณฑ์หรือสัตว์ในสวนสัตว์ นี่คือชุมชนที่คนอยู่อาศัยจริง และเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาจริงๆ การเข้าไปพักในชุมชนเพียงคืนหรือสองคืน ไม่ได้ช่วยให้นักท่องเที่ยวทำความเข้าใจชีวิตของคนในชุมชนแออัดได้มากนัก รวมถึงไม่ได้ช่วยคนในชุมชนด้วย"
การท่องเที่ยวชุมชนแออัดไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่สามารถสืบร่องรอยกลับไปถึงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการบันทึกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในลอนดอนเดินทางไปทางตะวันออกของเมืองและพบกับย่านคนจนขนาดใหญ่ และได้เข้าไปดูวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น และเรียกย่านนั้นว่า 'สลัม' ขณะที่ในฝั่งอเมริกา นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเริ่มไปเข้าไปในฝั่งตะวันตกของย่านแมนฮัตตัน และเมื่อไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวชุมชนแออัดในเชิงพาณิชย์ได้ขยายตัวออกไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชุมชนแออัดได้เติบโตเป็นอย่างมาก และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีที่เข้าไปท่องเที่ยวชุมชนแออัดทั่วโลก ไม่เพียงแค่นครมุมไบและกรุงนิวเดลีของอินเดียเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนแออัดในเมืองเคปทาวน์และโจฮันเนสเบิร์กในเซาท์แอฟริกา นครรีโอเดจาเนโรของบราซิล นครลอสแองเจลิสและเมืองดีทรอยด์ในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก และกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี
ศาสตราจารย์ เฟเบียน เฟรนเซล แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ของอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในชุมชนแออัด Slumming It: The Tourist Valorization of Urban Poverty เปิดเผยกับนิตยสารฟอร์บส์ว่า คนจำนวนมากสนใจเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกไปเที่ยวในชุมชนแออัด แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นคือความซับซ้อนและข้อจำกัด เพราะสิ่งที่เห็นจะเป็นชีวิตเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นชุมชนที่ถูกมองข้าม เพราะขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จำเป็น เต็มไปด้วยขยะและความเสื่อมโทรม
อย่างไรก็ตาม เฟรนเซลระบุว่า การท่องเที่ยวในชุมชนแออัดไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความยากจนได้ทั้งหมด เพราะผู้คนในชุมชนไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินบริจาคหรือรายได้จากการท่องเที่ยวมักจะถูกแบ่งให้กับโครงการหรือองค์กรที่เป็นผู้จัดการท่องเที่ยว
สิ่งหนึ่งที่จะได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้คือการเชื่อมโยงคนในท้องถิ่นกับโลกภายนอก ส่วนคนที่เข้ามาเที่ยวชมก็จะได้รับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของชุมชนแออัดเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดชุมชนเหล่านี้จึงถูกละเลยจากภาคส่วนต่างๆ และอาจนำไปสู่การผลักดันโครงการพัฒนาที่จำเป็นต่อไปในอนาคต
ที่มา เดอะการ์เดี้ยน และ ฟอร์บส์