หลังจากที่มีกลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติได้นัดรวมตัวอ่านแถลงการณ์ทั้งในและด้านนอกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ มอ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่อประนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ กลุ่มเปอร์มาส ที่คัดค้านการใช้กฎอัยการศึกและใช้ถ้อยคำที่กลุ่มระบุว่าเป็นขบถต่อประเทศไทยแล้ว
วันนี้ (26 ก.ย.) ยังมีกลุ่มคนพุทธในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้พยายามผลักดันเพื่อให้มีการตีกรอบการทำกิจกรรมของนักศึกษาต่อไป
นายสมนึก ระฆัง ทนายความและประธานเครือข่ายชาวพุทธ หรือ คพศ. กับตัวแทนกลุ่มจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรปัตตานี และได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนายสมนึกตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ทางกลุ่มได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนกลางเรียกตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปพูดคุยทำความเข้าใจกับความวิตกกังวลของกลุ่มในเรื่องพฤติกรรมของนักศึกษากลุ่มเปอร์มาสที่กลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสม
โดยก่อนหน้านั้นได้มีการแจ้งกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ผ่านการสื่อสารไลน์กลุ่มว่า จะมีกลุ่มคนพุทธเดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มเปอร์มาสในฐานะที่ทำผิดกฎหมาย เพราะต่อต้านการใช้กฎอัยการศึกและใส่ข้อความที่ขัดรัฐธรรมนูญไว้ในแถลงการณ์ของกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว นายสมนึกและสมาชิกส่วนหนึ่งระบุว่าพวกเขาไม่ได้เดินทางไปเพื่อจะแจ้งความแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เป็นตัวกลางเรียกตัวแทนมหาวิทยาลัยไปพูดคุยเพื่อให้ช่วยดูแลพฤติกรรมของนักศึกษาในสังกัด
นายสมนึก ระฆัง ชายเสื้อขาว
"เราต้องการความสันติสุข สามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เราเข้าใจว่านักศึกษาอาจไม่มีเจตนาร้ายก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่าที่ทำไปบางครั้งอาจไม่ถูกต้อง อยากให้มอ.ปัตตานีพิจารณาว่าจะปรับปรุงแก้ไขยังไง” นายสมนึกกล่าว
ขณะที่ ตัวแทนที่ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสริมว่า สิ่งที่กลุ่มต้องการคือการได้พูดคุยกับตัวแทนของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่พูดคุยกับกลุ่มเปอร์มาส และอยากเห็นมหาวิทยาลัยมีความรอบคอบในการจัดกิจกรรมต่างๆ
"เรามาในนามประชาชนทั่วไป ในนามสันติสุข พูดคุยเพื่อสันติสุขมากกว่า เรื่องนักศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือคุยกับมหาวิทยาลัย เราแค่คุยกับผู้บริหาร ไม่อยากให้เสียสถาบัน มัวหมอง เพราะลูกหลานเรียนอยู่ในนั้น"
ทั้งนี้ในเอกสารลงวันที่ 26 ก.ย. 2561 มีถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีที่ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของสำนักงานกฎหมายระฆังที่นายสมนึกนำไปด้วยและที่ผู้สื่อข่าวได้เห็นระบุว่า มหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นักศึกษากลุ่มเปอร์มาสจัดงานเมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยในงานนักศึกษาได้บอกเล่าบรรดาเพื่อนนักศึกษาที่ไปร่วมงานถึงเรื่องเหตุการณ์ที่มีการออกประกาศยกระดับการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ตำบลท่ากำชำและบางเขา ในเขตอำเภอหนองจิก ปัตตานีให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราว ได้มีการช��กชวนกันให้คัดค้านการใช้อำนาจดังกล่าวรวมทั้งชักชวนกันให้ไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงชาวบ้านด้วยเจตนาจะคัดค้านการใช้กฎอัยการศึก
เอกสารระบุว่า ต่อมาในวันที่ 21 ก.ย.กลุ่มเปอร์มาสยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และ "ขอให้ประชาชนไทยและปาตานีร่วมกันผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพฯลฯ"
โดยเอกสารที่ลงชื่อโดยนายสมนึกระบุว่าแสดงเจตนาแยกคนไทยออกเป็นกลุ่มเหล่า และคนปาตานีไม่ใช่คนไทย พร้อมกล่าวว่า นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่มเปอร์มาสแสดงออกว่าไม่เคารพรัฐธรรมนูญในเรื่องที่กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่เป็นหนึ่งเดียวและแบ่งแยกมิได้
เอกสารดังกล่าว ยังระบุว่ามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่ทำถือว่ามีความผิดตามวินัยข้าราชการ และรู้เห็นเป็นใจร่วมกับนักศึกษากระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่อาจกล่าวโทษนักศึกษาและคณาจารย์ได้
"แต่เพื่อให้เข้าใจตรงกันให้หายเคลือบแคลงสงสัยในพฤติการณ์ที่แสดงออกที่ส่อไปในทางแบ่งแยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งความในพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยฯไว้เป็นหลักฐานก่อน และขอให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนและเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎรได้เป็นคนกลางเชิญรองอธิการบดีทุกท่าน คณบดี อาจารย์ทุกท่านที่เกี่ยวข้องมาพบกันที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ในวันที่ 27 ก.ย. 2561 เวลา 14.30 น. เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกันให้กระจ่างชัดและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน...."
ในการไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจวันนี้ นายสมนึกมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยจำนวนประมาณ 7-8 คน ในระหว่างที่ตัวแทนหลักเข้าพบและหารือกับเจ้าหน้าที่ ผู้ร่วมทีมได้เกิดปัญหากับผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งเนื่องจากไม่พอใจที่ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพโดยไม่ขออนุญาตจนถึงขั้นสมาชิกในกลุ่มบางรายขู่จะฟ้องร้องผู้สื่อข่าว จนกระทั่งต้องมีการต่อรองให้ผู้สื่อข่าวลบรูปภาพผู้ที่ร่วมเดินทางบางคนออกจึงยุติเรื่องลงได้ แต่ทั้งหมดนั้นทำให้กลุ่มผู้สื่อข่าวสับสนว่ากลุ่มต้องการจะเผยแพร่ข้อมูลการพบปะกันต่อสาธารณะจริงดังที่มีการส่งคำเชิญให้สื่อไปทำข่าวก่อนหน้านั้นหรือไม่ ซึ่งตัวแทนบางรายอธิบายว่า สมาชิกในกลุ่มคิดเห็นต่างกัน บ้างก็พร้อมเป็นข่าว บ้างก็ไม่ต้องการ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มบางคนยังแสดงออกว่าไม่พอใจที่สื่อบางรายนำเสนอว่ากลุ่มเป็น "กลุ่มพุทธสุดโต่ง" อีกด้วย