ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูเฉพาะลูกหนี้ธ.ก.ส. จำนวน 3.6 หมื่นราย วงเงิน 6,382 ล้านบาท ให้ผ่อนจ่ายเงินต้นครึ่งหนึ่งไม่เกิน 15ปี กำหนดระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จแล้วภายใน 3 ปี

เมื่อวานนี้ (2ต.ค.61) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน (กฟก.) ในส่วนที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ ธ.ก.ส.พักหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมดให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน (กฟก.) จำนวน 36,605 ราย ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธ.ก.ส.จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรให้มาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มเกษตรกร กฟก.ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. เป็นหนี้เอ็นพีแอล วงเงินไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ซึ่งมี 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จแล้วใน 3 ปี หลังจาก ครม.เห็นชอบ มีเป้าหมายปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ปีละ 12,202 ราย ส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ จะใช้งบฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามโครงการ ซึ่งจะใช้งบปรกติของ กฟก.ในการดำเนินการ 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะทำภายใต้เงื่อนไข คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอล มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นเกษตรกรลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ต้องชำระตามที่มาของแหล่งรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง กรณีผิดนัดชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะคิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราสูงสุด รวมดอกเบี้ยปรับ 3% แต่มีข้อยกเว้นกรณีประสบภัยพิบัติ กรณีเกษตรกรมีปัญหาสุขภาพ และกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น โดยจะมีคณะทำงานร่วมพิจารณา และหากสุดท้ายเกษตรกรลูกหนี้กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล เกษตรกรลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้ตามนิติกรรมเดิม ซึ่งจะถูกเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งหมด รวมทั้งดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้เรียกเก็บในส่วนของหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วด้วย

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของตัวเอง ที่ผ่านการรับรองจากองค์กรเกษตรกรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอ ธ.ก.ส.ขอปรับโครงสร้างหนี้ และเมื่อได้รับการเห็นชอบแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูขององค์กรเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป