ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ (CARE) กล่าวในงานเสวนา "150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด" ชี้ความสำคัญของเหล่าผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารประเทศ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการนำพาประเทศออกจากวังวนของปัญหาปัจจุบันคือการตั้งคำถามที่ถูกต้องโดยแบ่งเป็นฝั่งอดีตที่ต้องแก้ไขและข้อสงสัยในอนาคตที่ต้องวางแผนให้สอดคล้อง
ประเด็นปัญหาซ้ำซากถูกชูขึ้นมาด้วยเรื่องของภาคเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้ที่ดินกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ แต่กลับสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อเศรษฐกิจเพียงแค่ร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งเป็นความไม่สอดคล้องและไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ เช่นเดียวกับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่สร้างกำไรต่ำและความนำไปสู่การปฏิรูปวงการอาหารและเกษตรกรรมของประเทศได้
ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบการใช้เงินแก้ไขปัญหาจากทั้งฝั่งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดยเริ่มจากปัญหามาตรการเรื่องการพักชำระหนี้ ที่ปล่อยออกมาทั้งหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ธุรกิจ ที่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ 150 วัน อันตรายมา เพราะกองหนี้เหล่านี้จะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเมื่อระยะเวลาการพักชำระหนี้หมดลง แต่ธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้
ดร.ศุภวุฒิ ยอมรับว่าปัจจุบันตนเองยังไม่มีคำตอบให้กับสังคมเช่นเดียวกันว่าต้องทำอย่างไร ทั้งนี้เมื่อไปมองคำตอบของรัฐบาลจากเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ต้องการนำมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานในท้องถิ่น ดูเหมือนว่าโครงการที่เสนอเข้ามาจะไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะโครงการจำนวนมากกลับเน้นไปที่การสร้างถนนแทนการสร้างงานอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เพราะเม็ดเงินส่วนนี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยไม่มีแผนนำทางที่ชัดเจน แต่ต้องรอหน่วยงานเสนอเข้ามา จึงทำให้สังคมไม่รับรู้ว่ากำลังจะไปทางไหน รัฐบาลจะพาประเทศไปอย่างไร และความน่ากังวลอยู่ที่ว่า ถ้าไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะหลงทางได้
เท่านั้นยังไม่พอ ดร.ศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชูโรงของประเทศมาตลอด อย่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่เคยทำให้ไทยมีความหวังถึงขั้นจะเป็น 'ดีทรอยต์ของเอเชีย' ว่าแนวคิดดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดแล้ว เพราะอนาคตได้เดินหน้าเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตราการสึกหรอต่ำมาก ทำให้อุตสาหกรรมนี้อาจเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องอุปสงค์คำสั่งซื้อได้ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจฯ จึงแนะว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรปรับตัวมาผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้นแทน
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวถึงความฝันและหนทางพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ว่าประเทศไทยต้องนำจุดแข็งของประเทศทั้งจากการท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรมากเกินพอในปัจจุบัน และชื่อเสียงด้านระบบสาธารณสุขเข้ามาผนวกเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสมบูรณ์’ (Wellness) สร้างการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวในเชิงสมบูรณ์นี้จะสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจมากกว่าการท่องเที่ยวแบบทั่วไปมาก หากประเทศไทยสามารถสร้างภาพจำให้เป็นได้มากกว่า ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ (Land of Smile) เป็นดินแดนแห่งความสมบูรณ์ เป็นดินแดนแห่งความสุขและสุขภาพ ประเทศจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังทรัพย์สูงเข้ามายังประเทศได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนา ทั้งเรื่องความปลอดภัยรวมทั้งบุคลากร
โดยแนะว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทุนสำรองในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก หากแบ่งเงินที่นอนเปล่าเหล่านี้มาเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยไปศึกษาด้านการแพทย์และกลับมาพัฒนาประเทศจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะเพียงแค่ร้อยละ 1 ของทุนสำรองแบงก์ชาติก็มีมูลค่าราว 70,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจะสามารถให้ทุนนักเรียนได้ปีละ 250 คน ในวงเงินคนละ 14.9 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :